ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : เปิดโปงทุกปัญหา กล้าพูดความจริง เรียนรู้จากปม ยายถูกลูกสะใภ้เชิดเงินเยียวยาวัคซีนโควิด-19

เช้านี้ที่หมอชิต - ตีตรงจุด วันนี้ ปักหมุดทุกข์ชาวบ้าน ชวนท่านผู้ชมเรียนรู้จากกรณี คุณยายอารมณ์ ถูกลูกสะใภ้เชิดเงินเยียวยา กรณีลูกชายเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 400,000 บาท มีช่องโหว่ในระเบียบของ สปสช. หรือไม่ เจ้าหน้าที่สะเพร่าหรือเปล่า แล้วคุณยายจะมีสิทธิได้เงินก้อนนี้คืนหรือไม่ เราไปติดตามกัน ด้วยการฟังเสียงทุกข์ใจของ คุณยายอารมณ์ กันก่อน

เป็นความทุกข์ใจของ คุณยายอารมณ์ ศรีธัญญา ที่นอกจากต้องสูญเสียลูกชายไปจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 แล้ว ยังถูกสะใภ้ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับลูกชาย และไม่มีลูกด้วยกัน เชิดเงินเยียวยาจาก สปสช. จำนวน 400,000 บาท หนีไปแบบไร้ร่องรอย โดยที่คุณยายไม่เคยเซ็นหนังสือมอบอำนาจให้ลูกสะใภ้ไปรับเงินจาก สปสช.จังหวัดนนทบุรี

คุณยายเล่าว่า ลูกสะใภ้แอบเอาหลักฐานต่าง ๆ ไปรับเงินโดยลำพัง เมื่อทราบเรื่อง คุณยายจึงได้ยื่นเรื่องคัดค้านไปยัง สปสช. แต่ก็ไม่ทันการณ์ เพราะได้สั่งจ่ายเงินโอนเข้าบัญชีลูกสะใภ้ไปแล้ว และระบุว่า คุณยายไม่มีสิทธิอุทธรณ์ เนื่องจากทำถูกต้องตามระเบียบของ สปสช. ในการยื่นเอกสารขอรับเงินเยียวยา

ทั้ง ๆ ที่ลูกสะใภ้ให้ข้อมูลเท็จ อ้างว่าคุณยายซึ่งเป็นแม่ของผู้เสียชีวิตได้เสียชีวิตแล้ว และยังนำเอกสารพิมพ์ลายนิ้วมือลูกชายคนโตของคุณยาย ซึ่งป่วยติดเตียงเป็นเสมือนบุคคลไร้ความสามารถไปประกอบการยื่นขอเงินเยียวยาด้วย ทำให้เกิดคำถามว่า ระเบียบของ สปสช. มีช่องโหว่อะไรหรือไม่

ทีมข่าวของเราไปตรวจสอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีน หรือมีอาการไม่พึงประสงค์ หรือมีอาการข้างเคียง หลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 กำหนดหลักการยื่นเงินเยียวยาไว้ ในส่วนของผู้มีสิทธิยื่นคำร้องไว้ 2 ระดับ คือ เริ่มจากเจ้าตัวที่เป็นผู้รับบริการหรือจะเป็นทายาทก็ได้ กรณีไม่มีทายาท จึงจะไปถึงผู้อุปการะที่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล หรือดูแลผู้รับบริการอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในกรณีนี้ ผู้บริหาร สปสช. ให้เหตุผลว่า ที่ สปสช. จ่ายเงินให้ลูกสะใภ้ เพราะได้ตรวจสอบหลักฐานการเข้ารับการรักษาจากทางโรงพยาบาล พบว่าผู้ที่ยินยอมให้รับการรักษาเป็นภรรยา ประกอบกับขอหลักฐานเพิ่มเติมจากญาติซึ่งเป็นพี่ชายของผู้เสียชีวิต ยินยอมปั๊มลายมือให้ยื่นคำร้องได้ ทางคณะกรรมการฯ จึงไม่คัดค้าน อนุมัติจ่ายเงิน 400,000 บาท แต่เมื่อมีประเด็นว่ายังมีทายาทที่มีสิทธิรับเงิน คือ แม่ของผู้เสียชีวิต ทำให้ทาง สปสช. จะไปตรวจสอบกับฝ่ายกฎหมายอีกครั้ง

สำหรับแง่มุมทางกฎหมาย นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายคลายทุกข์ ระบุว่า เรื่องนี้ผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิดมี 2 ส่วน คือ สปสช. ที่จ่ายเงินโดยไม่ตรวจสอบอย่างรอบคอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งที่ต้องให้กับผู้รับบริการหรือทายาท ยกเว้นกรณีไม่มีทายาท ผู้อุปการะจึงจะมีสิทธิ ส่วนสะใภ้ก็มีความผิด ฐานแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่ง สปสช. ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีกับสะใภ้ ส่วนคุณยายสามารถแจ้งความเอาผิดกับ สปสช. ได้

ขณะที่ คุณยายอารมณ์ เปิดเผยกับเราทั้งน้ำตา อยากให้ทาง สปสช. ทบทวนและตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อให้คุณยายได้รับความเป็นธรรมเพราะขณะนี้ลำบากมาก นอกจากต้องเสียลูกชายที่เป็นเสาหลักของบ้านไปแล้ว ยังมีหนี้สิน และบ้านก็กำลังจะถูกยึด

สำหรับความคืบหน้าในการเดินเรื่องเพื่อนำเงิน 400,000 บาท คืนมานั้น น.ส.ธนิดา แจ้งจำรัส สำนักงานกฎหมายธนิดา หรือ ทนายนินู ที่ยื่นมือช่วยเหลือคุณยาย ได้เดินทางไปที่ สปสช. โดยได้รับมอบอำนาจจากคุณยาย ให้ยื่นหนังสือขอตรวจสอบเอกสารการจ่ายเงินของลูกสะใภ้คุณยาย ซึ่งทาง สปสช. ขอตรวจสอบเอกสารอีกครั้ง แล้วจะตอบกลับเป็นหนังสือ แต่ตนตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เอกสารที่ลูกสะใภ้ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยามีเพียงสำเนาบัตรประชาชน สมุดบัญชี และเอกสารแสดงการฉีดวัคซีน สำเนาเวชระเบียน และสำเนาใบรับรองแพทย์ โดยทาง สปสช. ได้ยื่นเรื่องไปที่สำนักงานใหญ่เพื่อตรวจสอบ และได้จ่ายเงินให้ไป ซึ่งตนจะต่อสู้ตามสิทธิที่คุณยายควรจะได้รับ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark