ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : ถกสนั่น ล้างหนี้ กยศ. ลดความเหลื่อมล้ำ หรือ ไม่เป็นธรรมกับคนที่จ่ายแล้ว

เช้านี้ที่หมอชิต - ตีตรงจุด วันนี้ ปักหมุดสถานการณ์ร้อน เรียกว่าทวิตเตอร์ระอุเลย แฮชแท็ก ล้างหนี้ กยศ. ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ มีการพูดถึงเกือบ 90,000 ข้อความ พร้อมเชิญชวนล่า 10,000 รายชื่อ เพื่อแก้กฎหมาย กยศ. ยกเลิกหนี้คงค้างคนที่เรียนจบครบ 2 ปีแล้ว ชาวเน็ตที่ไม่เห็นด้วยออกมาตอบโต้อย่างดุเดือดเลยว่า กู้เองต้องใช้เอง เรื่องนี้มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ไปตีตรงจุดกันเลย

ต้องบอกว่าดุเดือดกันมาก สำหรับประเด็นล้างหนี้ กยศ. หลังมีการล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ. ให้รัฐบาลเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้ ลงชื่อผ่านเว็บไซต์ "ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ" ที่ระบุว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ กยศ. สูงมากกว่า 60% และก่อหนี้โดยเฉลี่ย 150,000-200,000 บาทต่อคน ใช้เวลาผ่อนชำระถึง 15 ปี และส่วนที่ชำระสูงสุดอาจถึง 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ 30% ของเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้น สภาพหนี้สินได้ลดแรงจูงใจในการเริ่มชีวิตประกอบธุรกิจ รวมถึงการเข้าแหล่งทุนต่าง ๆ ในช่วงเวลาสำคัญที่สุดของชีวิต สมควรปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยแก้ไข มาตรา 44 เพิ่มเติม วรรคที่ 5 ให้ผู้ทำการกู้ที่สำเร็จการศึกษาเกิน 2 ปี และยังคงมียอดกู้คงเหลือให้ถือว่าสิ้นสุดสัญญาเงินกู้ โดยให้กองทุนเก็บยอดหนี้คงค้างจากรัฐบาล

ปรากฏว่า ชาวเน็ตต่างเข้ามาทวีตแสดงความเห็นกันเป็นจำนวนมาก ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยคนไม่เห็นด้วยมองว่า เมื่อเราตัดสินใจกู้แล้วก็ต้องชดใช้เอง และที่สำคัญ คนที่มีวินัย กู้แล้ว ผ่อนชำระใช้หนี้ไปหมดแล้วก่อนหน้านี้ จะทำอย่างไร เท่ากับเสียเปรียบ

ทีมข่าวติดต่อไปยัง ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สิ่งที่ทางศูนย์ฯ กำลังผลักดันไปพร้อมกันมี 2 อย่าง คือ "เรียนฟรีต้องเรียนฟรีจริง" คือ รัฐต้องให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งในความเป็นจริงก็ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงโอกาสเพราะความยากจน และสุดท้ายก็หลุดออกจากระบบการศึกษา

แคมเปญนี้จึงพยายามผลักดันให้เรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี พร้อมค่าครองชีพ 3,000 บาท/เดือน ซึ่งหากสามารถผลักดันสำเร็จ สิ่งที่ต้องทำต่อก็คือ การล้างผลความล้มเหลวทางการศึกษาในช่วงที่การศึกษาระดับสูงไม่ได้ฟรี จึงนำมาสู่แคมเปญล้างหนี้ กยศ. เป็นรูปแบบเดียวกับการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งก่อนจะสำเร็จก็ต้องถกเถียงกันเรื่องที่ว่า ใครได้ ใครเสียประโยชน์ แต่สุดท้ายมันก็คือการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ก้าวหน้า ดังนั้น การลงทุนกับการศึกษาก็เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาระบบการศึกษาไทยเช่นกัน

จากสถิติข้อมูลของ กยศ. ณ วันที่ 30 มิถุนายน พบว่า มีผู้กู้เงิน กยศ. มากถึงกว่า 6.2 ล้านคน อยู่ระหว่างชำระหนี้กว่า 3.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 56% ชำระหนี้แล้วกว่า 1.6 ล้านคน หรือ 26% อยู่ในช่วงปลอดหนี้ก็คือยังเรียนจบไม่ครบ 2 ปี ก็ยังไม่ต้องชำระหนี้ กว่า 1 ล้านคน หรือ 17% และเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ 68,369 คน หรือคิดเป็น 1% ของจำนวนทั้งหมด

ปัญหาหนี้ กยศ. ถือว่าเรื้อรังมานาน โดยพบมีการผิดนัดชำระหนี้ จนถึงขั้นถูกดำเนินคดีมากกว่า 1.1 ล้านคน โดยเป็นข่าวครึกโครมในช่วงปีที่แล้วว่า มียอดหนี้เสียสูงกว่ายุควิกฤตต้มยำกุ้งเสียอีก จากสถิติในปี 2563 พบ กยศ. มีหนี้เสียสูงถึง 62% ขณะที่หนี้เสียในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งอยู่ที่ 47%

ทำให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการขยายเวลาให้ผ่อนได้สูงสุดนานถึง 30 ปี รวมถึงชะลอการฟ้องร้องและการบังคับคดี ซึ่งในปีนี้ กยศ. ก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มอำนาจกองทุนฯ สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้ข้อมูลกับทีมข่าวของเราว่า ในปัจจุบันมีผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ประมาณ 40% แต่ไม่มีการดำเนินคดีมา 2-3 ปีแล้ว จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยกเว้นกรณีคดีใกล้ขาดอายุความ โดยมีกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ก่อนฟ้อง

สำหรับความคืบหน้าในการแก้กฎหมายนั้น ขณะนี้รอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระ 2 และ 3 สาระสำคัญ คือ การแปลงหนี้ เพื่อให้โอกาสลูกหนี้กลับเข้าสู่ระบบการชำระได้ปกติ หรือมาผ่อนใหม่ แต่หากมีการยกเลิกหนี้ จะทำให้คนรุ่นต่อไปขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา

เรามาดูกันต่อว่า หากลูกหนี้ กยศ. ชำระหนี้คืนไม่ตรงเวลา ไม่จ่ายคืน รวมไปถึงมีเจตนาเบี้ยวหนี้ ก็จะมีค่าปรับ แบ่งเป็น 2 ระดับ ถ้าไม่เกิน 1 ปี เบี้ยปรับอยู่ที่ 12% ของเงินต้นที่ค้างชำระ แต่ถ้าเกิน 1 ปี เบี้ยปรับก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 18% ของเงินต้นที่ค้างชำระ

แต่ถ้าใครเป็นลูกหนี้ชั้นดี ไม่เคยผิดนัด เบี้ยวหนี้ ในปัจจุบันมีการลดดอกเบี้ยจาก 1% ต่อปี เหลือ 0.01% ต่อปี และยังลดเงินต้น 5% กรณีไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ และต้องการปิดบัญชี รวมถึงลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่จะปิดบัญชี

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark