ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : เปิดใจเหยื่อ ถูกหลอกทำยอดไลก์ แอปพลิเคชันขายสินค้า สูบเงินกว่า 60,000 บาท

เช้านี้ที่หมอชิต - ตีตรงจุดวันนี้ ปักหมุดที่ทุกข์ชาวบ้าน สาวอุบลราชธานีร้องเรียนมาที่ทีมข่าวของเรา หลังหลงกลแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกร่วมกดยอดไลก์ ดันการขายสินค้า โดยให้โอนเงินไปสำรอง สูญเงินกว่า 60,000 บาท เธอบอกว่ายังมีเหยื่อในกลุ่มเดียวกันอีก 4 คน

มาอีกแล้ว สำหรับ SMS อ้างเป็นผู้โชคดี เชิญร่วมกิจกรรมดันยอดขายสินค้า ซึ่งสาวที่ตกเป็นเหยื่อรายนี้ ร้องเรียนมาที่ทีมงานของเราว่า เธอเข้าไปกดลิงก์ที่ส่งมาเชิญชวน ทันทีที่กดเข้าไปตามลิงก์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะให้แอดไลน์เข้ากลุ่ม โดยโน้มน้าวให้ทำกิจกรรม กดไลก์ กดหัวใจ เพื่อดันยอดไลก์ขายสินค้า โดยก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมจะต้องโอนเงินไปสำรองก่อน

แรก ๆ ยอดเงินก็ไม่สูงมากนัก และมีการโอนเงินกลับมาเพื่อให้เหยื่อตายใจ จากนั้นก็จะค่อย ๆ เพิ่มระดับเงินโอนสำรอง ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่ก็จะโอนกลับไป เพราะอยากได้เงินสำรองที่โอนไปคืน โดยเหยื่อรายนี้ บอกว่า มีการกดดันให้เหยื่อโอนเงิน โดยสร้างกติกาว่า หากคนในกลุ่มไลน์คนใดคนหนึ่งทำผิดเงื่อนไข จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ทำให้คนทั้งกลุ่มไม่ได้รับการโอนเงินคืน ดังนั้น จึงต้องเร่งโอนเงินตามเงื่อนไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับคนในกลุ่ม ทำให้เหยื่อรายนี้ไม่อาจเพิกเฉยได้ และตกหลุมพรางของแก๊งนี้ไปเรื่อย ๆ

และนี่คือหลักฐานจากกระดานสนทนา ซึ่งเหยื่อบอกว่า จะต้องคอยส่งผลงานกลับเข้าไปเพื่อนับยอด ซึ่งหากทำไม่ได้ หรือไม่ทันตามกำหนด จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ทำให้สมองไม่ทันคิดหาทางหนีทีไล่ หรือไตร่ตรองว่าถูกหลอกหรือไม่ เมื่อสอบถามว่ามีการเตือนการหลอกลวงลักษณะนี้ตลอด ทำไมไม่เอะใจ เหยื่อยอมรับว่าไม่ได้ดูข่าวสารจึงไม่ทราบ บวกกับวิถีชีวิตประจำวันจะอยู่แต่กับมือถือ จึงรับข้อมูลเพียงด้านเดียว

ถามว่าการตามเงินคืนจากแก๊งเหล่านี้ ทำได้หรือไม่ ต้องตอบว่าค่อนข้างยาก เพราะเงินส่วนใหญ่ถูกโอนเข้าบัญชีม้า ซึ่งจะมีคนคอยกดเงินออก และโอนกลับไปเข้าบัญชีของหัวหน้าแก๊ง ที่ตั้งแต่อยู่ตามประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมา พบว่าแต่ละเพจจะมีการตั้งวงเงินยอดที่ต้องได้ ต้องปิดเพจหนี สูงหลายพันล้านบาทเลยทีเดียว

ศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น มีผู้เสียหายมาใช้บริการแจ้งความออนไลน์มากถึงวันละมากกว่า 300 ราย และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ 

จากสถิติการรับแจ้งตั้งแต่วันที่ 1-18 มีนาคม มีการแจ้งความออนไลน์มากถึง 3,752 คดี สูงสุดคือคดีหลอกลวงด้านการเงิน 2,512 เรื่อง รองลงมาเป็นการหลอกจำหน่ายสินค้าออนไลน์ 731 เรื่อง ข่าวปลอม Fake News 82 เรื่อง พนันออนไลน์ 9 เรื่อง ล่วงละเมิดทางเพศ 3 เรื่อง และคดีอาญาอื่น ๆ หรือคดีแพ่งที่ยังไม่เข้าข่ายความผิด อีก 415 เรื่อง

โดยมีการส่งเรื่องให้สถานีตำรวจที่มีอำนาจสอบสวนแล้ว 3,741 เรื่อง ที่เหลืออีก 11 เรื่อง อยู่ระหว่างติดต่อผู้เสียหายเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม ตรวจสอบจากระบบพบว่า พนักงานสอบสวนมีการนัดหมายผู้แจ้งแล้ว 3,661 เรื่อง และคดีมีความเชื่อมโยงกันถึง 210 เรื่อง

โดยแบ่งเป็นคดี 5 ประเภท 1.หลอกลวงขายสินค้า มี 16 กลุ่มผู้กระทำผิด ผู้เสียหาย 116 ราย มากที่สุด 2.หลอกลวงขาย ATK 3.หลอกลวงทางด้านการเงิน 4.หลอกลงทุนน้ำมัน 5.หลอกลงทุนธุรกิจเพชร ที่น่าสนใจคือเจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดบัญชีคนร้ายทั้งหมด 337 บัญชี จำนวนเงิน 129,948,940 บาท โดยสามารถอายัดได้แล้วกว่า 32 ล้านบาท

นี่เป็นเพียงหนึ่งกลยุทธที่กลุ่มมิจฉาชีพมักจะล่อให้เราลงทุนด้วยการเสนอให้ตัวเลขผลตอบแทนที่สูงเกินจริง และเร่งให้เราตัดสินใจโอนเงินลงทุนเร็ว ๆ เพื่อตัดตอนไม่ให้เรามีเวลาคิดไตร่ตรองดี ๆ รู้ตัวอีกทีก็ตกเป็นเหยื่อลงเงินไปกับธุรกิจที่ไม่มีจริงไปเสียแล้ว

ถ้าไม่อยากเสียรู้ ให้ทำตาม 4 ไม่ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แนะนำมา คือ 1.ไม่ลงทุนตามคำชักชวน โดยไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ระวังการแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง 2.ไม่หลงเชื่อการอ้างผลตอบแทนที่สูงเกินจริง 3.ไม่รีบร้อน ต้องตรวจสอบตัวตนบริษัทก่อนลงทุน โดยตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการและบุคคลเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตได้ที่ www.sec.or.th 4.ไม่โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดา

และนี่เป็นเอกสารวิทยุแจ้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งแจ้งไปยังทุกท้องที่ให้เฝ้าระวังปัญหาการหลอกลวงลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ปลูกกัญชา เลี้ยงผึ้ง เพาะเห็ด ไปจนถึงปลูกกระท่อม โดยมีผู้เสียหายร้องเรียนผ่าน เว็บไซต์ Thai Police Online แล้วกว่า 1,137 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 678 ล้านบาท

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark