ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : นับหนึ่งคดีตัวอย่าง เรียก 6 ล้าน ปฏิเสธรักษาผู้ป่วยโควิด-19

เช้านี้ที่หมอชิต - วันนี้ ตีตรงจุด เรายังปักหมุดที่ความทุกข์ชาวบ้าน ซึ่งเรื่องนี้ต้องบอกว่าเราตีตรงจุดต่อเนื่องมาแบบข้ามปี เป็นเรื่องของคุณป้าประไพ สาพันธ์ ป่วยโควิด-19 อาการมาครบทุกอย่าง แต่โรงพยาบาลไม่แม้แต่จะตรวจหาเชื้อให้ ไล่กลับบ้าน สุดท้ายเสียชีวิต ร่างของคุณป้าประไพ เผาไปแล้ว แต่คดีความยังไม่จบ ถือเป็นคดีตัวอย่าง คดีแรกที่ฟ้องร้องแบบกราวรูด ไล่ตั้งแต่แพทย์ โรงพยาบาล ไปจนถึง สปสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกค่าชดเชยชีวิตที่ไม่อาจหวนคืน 6 ล้านบาท

ก่อนอื่นมาย้อนดูเรื่องราวของคุณป้าประไพกันก่อน คุณป้าป่วย มีอาการที่เรียกว่าครบทุกอย่างของการบอกเหตุว่าติดโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นไอหอบ ท้องเสีย มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง แถมยังเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมารดาเพิ่งเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปีที่แล้ว คุณป้าไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง เริ่มตั้งแต่ขอตรวจหาเชื้อ แต่แพทย์เวรกลับปฏิเสธ ทั้ง ๆ ที่คุณป้าเข้าเกณฑ์ตามนิยามของกระทรวงสาธารณสุขทุกอย่าง แต่แพทย์คนดังกล่าวกลับไม่ตรวจหาเชื้ออย่างที่ควรจะเป็น ก่อนจ่ายยาพาราเซตามอล และให้กลับบ้าน

จากนั้นเพียงวันเดียวอาการของคุณป้าประไพ ทรุดหนัก เหนื่อยหอบ ท้องเสียหนัก และปวดศีรษะรุนแรง ถึงขั้นเคลื่อนไหวเองไม่ได้ ญาติจึงพากลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง พร้อมร้องขอต่อแพทย์คนเดิมให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่ก็ยังได้รับการปฏิเสธ อ้างว่าไม่มีน้ำยาตรวจหาเชื้อ ทำการรักษาพยาบาลเพียงแค่การเจาะเลือดและให้น้ำเกลือ โดยไม่รับคุณป้าเป็นผู้ป่วยในเพื่อรักษาพยาบาล ปล่อยให้นั่งอยู่ในรถเข็นข้างทางเท้าบริเวณอาคารโรงพยาบาลอย่างน่าเวทนา เมื่อให้น้ำเกลือหมดขวด ประมาณ 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ก็แจ้งให้กลับบ้านในสภาพที่ญาติต้องอุ้มขึ้นรถ

ต่อมาอีก 2 วัน คุณป้าประไพ ได้มีโอกาสตรวจหาเชื้อจากหน่วยบริการที่มาให้บริการใกล้บ้าน และผลตรวจออกมาในวันที่ 29 มิถุนายน ว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งก็เรียกว่ารู้ตัวก็สายไป เพราะในช่วงเวลานั้นอาการป่วยที่เดิมอยู่ในข่ายสีเหลือง เข้าขั้นเป็นสีแดง มีอาการหอบ หายใจติดขัด แถมยังไม่สามารถประสานหาเตียงผ่านระบบ สปสช.ได้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน คุณป้าประไพ ก็เสียชีวิตภายในบ้านพักต่อหน้าครอบครัว โดยไม่ได้รับการรักษา ก่อนที่รถโรงพยาบาลจะมารับไปรักษาเพียง 3 ชั่วโมง

จากความรู้สึกที่คิดว่าไม่เป็นธรรม ครอบครัวของคุณป้าประไพ จึงไปร้องเรียนกับทนายเชาว์ มีขวด เพื่อให้ช่วยดำเนินคดีกับแพทย์และโรงพยาบาล ซึ่งทางทนายความได้ยื่นฟ้องไปเมื่อวานนี้ ทั้งแพทย์ โรงพยาบาล สปสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เรียกค่าชดเชยเป็นเงิน 6 ล้านบาท เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่างว่าแพทย์และโรงพยาบาลต้องมีจรรยาบรรณ ผู้บริหารต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตประชาชน แต่คดียังสะดุด เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของ สปสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอเลื่อน ทำให้ศาลนัดอีกครั้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน

คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่าง และเป็นคดีแรกที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรณีความบกพร่องในการรักษาโควิด-19 ซึ่งผู้บริหาร สปสช. ชี้แจงว่าเหตุผลที่เลื่อนไม่ใช่การประวิงเวลา แต่เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของ สปสช. ยังเตรียมพยานหลักฐานเพื่อนำไปชี้แจงต่อศาล และครอบครัวผู้เสียหายไม่ครบถ้วน ให้การเจรจาเป็นไปโดยดีจึงต้องขอเวลา

ทั้งนี้ สปสช. แนะนำให้ญาติผู้ป่วยที่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยื่นขอเงินเยียวยาตามมาตรา 41 ได้ โดยในกรณีเสียชีวิตจะได้รับการชดเชย 400,000 บาท ส่วนค่าเสียหาย 6 ล้านบาท ที่ทางครอบครัวผู้เสียชีวิตจะเรียกร้องทางโรงพยาลเอกชนนั้น จะมีการเจรจากันอีกครั้งในวันไกล่เกลี่ย

ขณะที่ลูกสาวของคุณป้าประไพ วันนี้ยังคงรอคอยความหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานรัฐ เพราะในช่วงที่มีการระบาดหนัก หน่วยงานรัฐยืนยันว่าระบบสาธารณสุขสามารถรองรับผู้ป่วยได้ เตียงมีเพียงพอ ยารักษามีเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงคนจนแบบตนไม่ได้รับแม้กระทั่งการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อ ทั้งที่มีอาการชัดเจน ตอนไปหาหมอครั้งที่ 2 ก็ยังต้องเอ็กซ์เรย์ปอด ให้น้ำเกลือ เจาะเลือด ยาฟาวิพิราเวียร์ก็ไม่ได้กินทั้งที่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว

วันนี้ยังคงคับแค้นใจ และขอให้ทางรัฐออกมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น เชื่อว่าไม่ได้มีแค่ครอบครัวของเธอที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ เพียงแค่เธอขอเป็นคนหนึ่งที่ออกมาต่อสู้ เพื่อให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

ตลอดเวลาที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทยเกือบ 3 ปี กระทั่งวันที่ 29 สิงหาคม โควิด-19 คร่าชีวิตคนไทยไปแล้ว 32,248 คน มีผู้ติดเชื้อมากถึงกว่า 4.6 ล้านนคน และเชื่อว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต อาจมีหลายคนที่มีประสบการณ์ไม่ต่างจากครอบครัวของคุณป้าประไพ ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ฝ่าฟันความยากลำบากในยุคโรคระบาดไปด้วยกัน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark