ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : วิบากกรรมนักการเมือง ทำผิด-ทุจริต อย่าคิดรอด

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ มีวิบากกรรมนักการเมืองหลายคน ทั้งที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว มีทั้งอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เป็นเรื่องอะไร ไปติดตามจากรายงาน

ย้อนไปถึงกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความวุ่นวายระหว่างการพิจารณากฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2556 แล้ว ยังเป็นชนวนเหตุสำคัญทำให้เกิดการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม กปปส.ยาวนานต่อเนื่องแบบข้ามปี นำไปสู่การประกาศยุบสภา และเกิดการรัฐประหารในเวลาต่อมา

พฤติกรรมที่ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงพลังคัดค้าน คือ การพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ครอบคลุมทั้งแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแกนนำ นปช. รวมถึงคดีทุจริตของนายทักษิณ ชินวัตร ด้วย สุดท้ายนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ถูกดำเนินคดี

ปมนิรโทษกรรมสุดซอย ยังมี 40 สส. ในยุคนั้น ที่ร่วมกันเสนอกฎหมายฉบับนี้ ถูกไล่เช็กบิลด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้การพิจารณาอยู่ในชั้นอนุกรรมาธิการไต่สวน ที่มี สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานฯ ได้ทยอยเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงแล้ว คาดว่าในเร็ววันนี้จะสรุปผลส่งให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ตัดสิน โดยในจำนวน 40 สส.ที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายในเวลานั้น มีเกือบ 10 คน ที่ยังเป็น สส.อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่มีใครทราบว่าผลสอบสวนจะออกมาเป็นบวกหรือลบ จึงยังเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นระทึกกันต่อ สำหรับ สส.พรรคเพื่อไทยหลายคน

ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลทักษิณ เป็นอีกคนหนึ่งที่หนีไม่พ้นบ่วงกรรม ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเกี่ยวพันกับคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการบินไทย และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท แม้ ป.ป.ช.จะไม่พบหลักฐานว่า ทนงได้รับประโยชน์ตอบแทน จากการจัดซื้อเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน โรลส์-รอยซ์ สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง B77-200ER จำนวน 6 ลำ เมื่อปี 2547-2548 แต่การดำเนินการดังกล่าว ทำให้การบินไทยได้รับความเสียหาย เพราะไม่ดำเนินการตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ป.ป.ช.จึงชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ส่งสำนวนให้อัยการดำเนินคดีแล้ว

สำหรับปัญหาการจัดซื้อเครื่องบินการบินไทย ไม่ได้มีเพียงกรณีของ ทนง เท่านั้น แต่ ป.ป.ช.ยังอยู่ระหว่างไต่สวน ทักษิณ กับพวกรวม 5 คน เกี่ยวกับการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 เมื่อปี 2545-2547 ซึ่งพบว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้การบินไทย ประสบปัญหาขาดทุนสะสมมากกว่า 62,000 ล้านบาท ซึ่งจนถึงขณะนี้ ป.ป.ช.ใช้เวลาไต่สวนเรื่องนี้มาปีเศษแล้ว โดยมีกรอบเวลาที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จหลังตั้งองค์คณะไต่สวนไว้ว่า ต้องจบภายในสองปี

สุดท้ายปลางทางของคดีจะจบลงอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ ๆ คือ กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา และผลแห่งกรรมมีจริง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark