ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : กฎหมายคาร์ซีต เตรียมบังคับใช้ คนไทยพร้อมแค่ไหน

เช้านี้ที่หมอชิต - จริง ๆ วันนี้ เดิมทีจะเป็นวันแรกที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายคาร์ซีต โดยให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ หรือผู้โดยสารที่สูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องนั่งคาร์ซีต บูสเตอร์ซีต หรือคาดเข็มขัดนิรภัย หากไม่ปฏิบัติจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2565 แต่เนื่องจากยังออกกฎหมายลูกไม่แล้วเสร็จ จึงต้องเลื่อนไปอีก 90 วัน วันนี้เราจึงไปสำรวจความพร้อมของประชาชน และเจ้าหน้าที่มีความตื่นตัวเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ติดตามกันในช่วง ตีตรงจุด

วันนี้ (5 ก.ย.) ก็ครบ 120 วัน หลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ปรับกฎหมายจราจรทางบก เด็กไม่เกิน 6 ขวบ สูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องนั่งคาร์ซีต หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท

ทีมข่าวของเราก็ออกสำรวจความพร้อมของประชาชน ไปดูที่ร้านจำหน่ายคาร์ซีต ร้านปุณณิฏา ย่านพัฒนาการ พบว่าวันนี้มีลูกค้าให้ความสนใจเข้ามาซื้อคาร์ซีตมากกว่าปกติ เนื่องจากทราบว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายเร็ว ๆ นี้ แต่ที่สำคัญก็คือเพื่อความปลอดภัยของลูก อย่างครอบครัวของ คุณชาญวุฒิ เวศย์วรุต เมื่อวานนี้มาเลือกซื้อคาร์ซีตให้ลูกสาวอายุ 1 ขวบ 8 เดือน ซึ่งปกติก็มีการติดตั้งอยู่แล้ว มองว่าเป็นเรื่องจำเป็น ถึงกฎหมายไม่บังคับแต่ก็ต้องทำ เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของลูก

ส่วนยอดขายทางร้านยอมรับว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ที่เกิดกระแสดรามาคาร์ซีต ซึ่งช่วงนั้นถึงแม้จะมีเสียงวิจารณ์เรื่องของค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้น แต่ยอดขายสูงเพิ่มขึ้นจนสินค้าขาดตลาดเลยก็ว่าได้ โดยคาร์ซีตที่ได้รับความนิยมของทางร้านจะอยู่ในราคาระดับกลาง ๆ ราคาประมาณ 20,000 บาท ซึ่งคาร์ซีตก็มีหลายราคาแล้วแต่แบรนด์ แล้วแต่คุณภาพ มีราคาตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหลายหมื่นบาท

มาดูสาเหตุว่า ทำไมคาร์ซีตถึงมีความจำเป็นต่อเด็ก ๆ เรื่องนี้ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เผยข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ ซึ่งมีผลทำให้เด็กเสียชีวิตปีละกว่า 140 คน และเด็กส่วนใหญ่เสียชีวิตนอกรถยนต์ เนื่องจากไม่มีระบบการป้องกัน หรือไม่มีระบบยึดโยงผู้โดยสารไว้กับที่นั่ง ซึ่งผิดจากวัยผู้ใหญ่ที่จะมีเข็มขัดนิรภัยไว้ให้คาดกัน

ส่วนประเด็นที่มีการระบุว่า เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน กระดูกยังอ่อนไม่จำเป็นต้องใช้ ให้คุณแม่อุ้มนั่งตักที่เบาะหน้าก็ได้ แต่จุดนี้จริง ๆ มีผลวิจัยพบว่า เด็กที่อายุน้อยกว่า 13 ปี หากนั่งเบาะหน้าข้างคนขับ หนำซ้ำหากนั่งคู่ไปกับผู้ปกครอง มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่านั่งเบาะหลัง 2 เท่า

หากถามว่าแล้วแบบนั้นต้องใช้คาร์ซีตยังไง เพราะเด็กก็มีหลายช่วงอายุ, คาร์ซีตเองก็มีหลายรุ่น-หลายขนาด เรื่องนี้คุณหมอแนะนำศึกษาคู่มือประกอบดี ๆ แต่หลัก ๆ จะมี 3 รูปแบบ แบ่งตามช่วงอายุ และปัจจุบันคาร์ซีตมีการออกแบบที่พัฒนาขึ้นจากอดีต บางรุ่นซื้อครั้งเดียวใช้ได้จนโต

คุณหมอยังแนะนำว่า หากจะใช้คาร์ซีตมือสอง ต้องไม่เป็นคาร์ซีตที่เคยเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์มาแล้ว เพราะอาจมีจุดชำรุดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ พร้อมแนะสังเกตฉลากบนคาร์ซีต หากมีมาตรฐานความปลอดภัย จะมีการระบุตัวอักษร ECE R 44 และ ECE R129 หรือ i -Size กำกับไว้ ซึ่งสามารถเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง เพราะอาจมีผู้ค้านำของปลอมมาปะปนจำหน่ายในท้องตลาดได้ด้วย

มาตรฐานความปลอดภัย มีการทดสอบทั้งวัสดุ, การชนในความเร็วขนาดต่าง ๆ และชนทั้งด้านหน้า ด้านหลัง พร้อมทั้งกำกับขนาดคาร์ซีตในช่วงอายุและส่วนสูงของเด็ก

ส่วนด้านการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2565 พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จะต้องรอกฎหมายลูกออกมาเสร็จเรียบร้อยก่อน ภายใน 120 วัน หลังวันที่ 5 กันยายน จึงจะมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด โดยต้องพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการดูแล กรณีที่ไม่มีคาร์ซีตต้องนั่งแบบใด เช่น อาจจะให้มีการนั่งเบาะหลังได้ แต่ต้องมีผู้ดูแล หรืออาจจะมีการจำกัดความเร็วลง เป็นต้น ดังนั้นช่วงนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงผ่อนผันให้ผู้ที่ยังไม่มีความพร้อม

ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงอีกมากพอสมควร ก็คือ รถกระบะที่มีแคป, การนั่งท้ายกระบะ ก็ยังอยู่ระหว่างพิจารณาออกกฎหมายลูกเพิ่มใน 120 วัน เช่นกัน ช่วงนี้จึงผ่อนผันให้นั่งได้ไม่เกิน 3 คน แต่ทั้งนี้ต้องเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เช่น การจำกัดความเร็ว หรือการชิดขอบทางด้านซ้าย ส่วนการทำผิดวินัยจราจรอย่างอื่นมีการเพิ่มอัตราโทษสูงขึ้น เช่น การขับรถย้อนศร ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่รัดเข็มขัด จอดรถในที่ห้ามจอด เหล่านี้มีอัตราโทษปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 บาท

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark