ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตำรวจหลอกขายปลามังกรให้หนุ่มเมืองนอก เสียหาย 2 แสนบาท ไม่ได้ปลาสักตัว

เช้านี้ที่หมอชิต - เราได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายคนหนึ่ง เขาเป็นคนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศหลายสิบปี กลับมาหวังว่าจะทำธุรกิจเลี้ยงปลาสวยงาม จึงติดต่อซื้อขายกับนายตำรวจคนหนึ่ง ตกลงกันซื้อทั้งตู้ปลา และปลามังกรนำเข้าจากอินโดนีเซีย สุดท้ายถูกหลอก ปลาก็ไม่ได้สักตัว ตู้ปลาก็ไม่เคยได้เห็น สูญเงินให้ตำรวจนายนี้ไปกว่า 200,000 บาท 

ผู้เสียหาย คือ นายปสิทธิ์ เอี่ยมจินดา ร้องเรียนมายังทีมข่าวช่อง 7HD บอกว่า ถูกตำรวจนายหนึ่งฉ้อโกงโดยการหลอกขายตู้ปลามือสอง และปลามังกรแดงอินโดนีเซีย ในราคา 200,000 บาท โดยจุดเริ่มต้นผู้เสียหายเล่าว่า ตนเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ หลังไปใช้ชีวิตอยู่นานกว่า 20 ปี เมื่อกลับมาจึงต้องการที่จะหารายได้ที่สามารถทำอยู่บ้าน และดูแลแม่ที่ป่วยไปพร้อม ๆ กัน

จึงสนใจการเลี้ยงปลามังกรแดง เพราะเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยม ราคาซื้อขายสูง เข้าไปอยู่ในกลุ่มซื้อขายตู้ปลา จนได้พบกับ นายสันติสุข หรือ นิว สมาชิกในกลุ่ม ซึ่งบอกว่าเป็นตำรวจ เสนอขายตู้ปลามือสองให้ จำนวน 6 ใบ และชั้นวาง 3 อัน ในราคา 20,000 บาท

โดยโอนเงินมัดจำให้ 10,000 บาท วันที่ 21 มิถุนายน 2565 และมีกำหนดส่งตู้ปลาให้ในวันที่ 25 มิถุนายน แต่ก็ไม่ส่งของให้ตามกำหนด และขอเลื่อนเวลาออกไป ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งตู้ปลา ก็พูดคุยกันในเฟซบุ๊กจนเริ่มสนิทสนม และได้เสนอขายปลามังกรแดงให้นายปสิทธิ์ ที่กำลังสนใจอยู่แล้ว จำนวน 14 ตัว ในราคา 150,000 บาท

นายนิว บอกกับผู้เสียหายว่า ทำงานร่วมกับฟาร์มปลามังกรในต่างประเทศที่สามารถนำเข้าได้ในราคาถูกกว่าท้องตลาด ผู้เสียหายจึงตอบตกลง โอนเงินจำนวน 150,000 บาท แต่วันถัดมากลับมาบอกว่าถ้าจะนำเข้าปลามังกรแดง จะต้องจดทะเบียน ซึ่งอย่างน้อยต้องจดไม่ต่ำกว่า 15 ตัว นายสันติสุข จึงแจ้งว่าที่ฟาร์มมีปลามังกรแดงอีก 14 ตัว ที่รอขายอยู่ ถ้ารับเพิ่มจะขายให้เพียง 50,000 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินเพิ่มไป 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท โดยแจ้งว่าจะส่งปลามังกรแดงให้รวม 28 ตัว ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 สุดท้ายก็ไม่ส่งให้ตามกำหนด และเรียกเก็บค่าเดินเรื่องเพิ่ม ทั้งที่ตอนแรกบอกว่าเงินที่จ่ายไปรวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว ผู้เสียหายจึงไม่ยอมจ่ายอีก จากนั้น นายสันติสุข แจ้งว่าไม่สามารถส่งปลาให้ได้ และปลาก็ถูกส่งกลับอินโดนีเซียแล้ว เพราะ นายปสิทธิ์ ไม่ยอมจ่ายค่าเดินเรื่อง

ผู้เสียหายจึงขอยกเลิกและขอเงินคืน โดย นายนิว ก็ยืนยันว่าจะคืนเงินให้ แต่ก็ขอผลัดวันเวลาเรื่อยมาครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนถึงวันนี้ยังไม่ได้เงินคืนแม้แต่บาทเดียว จึงร้องเรียนมายังทีมข่าวเพื่อขอความเป็นธรรม

เพื่อความเป็นธรรมของทั้ง 2 ฝ่าย ทีมข่าวได้มีการติดต่อไปยังนายตำรวจคนดังกล่าว ก็ไม่ได้มีการหลบหนี หรือขาดการติดต่อ ยังคงมีการเจรจากับผู้เสียหายอยู่ตลอด แต่ก็ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ เบื้องต้น บอกกับผู้เสียหายว่าจะคืนเงินให้ภายในวันพุธนี้ไม่เกินเที่ยง ก็ต้องมารอติดตามดูว่าจะคืนได้ตามที่แจ้งไว้หรือไม่

เรื่องนี้ผู้เสียหายได้นำหลักฐานต่าง ๆ ไปแจ้งความไว้ที่ สน.ภาษีเจริญ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 จนเมื่อวานนี้ ตำรวจออกหมายเรียกนายตำรวจคนนี้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว

ย้อนกลับมาดูข้อมูลเกี่ยวกับปลามังกรที่เป็นปัญหา เราส่งทีมข่าวไปลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ที่คลุกคลีอยู่กับวงการปลามังกรมายาวนานกว่า 20 ปี อย่าง คุณสิทธิธรรม เรืองจรุงพงศ์ เจ้าของฟาร์มปลามังกร เอเอฟ อโรวาน่า บอกว่า ปลามังกรเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมมายาวนาน บางคนเชื่อว่าเป็นสัตว์นำโชค โดยเฉพาะ ปลามังกรแดง และ ปลามังกรทอง ที่ชาวจีนชื่นชอบ จะมีราคาสูง อย่างปลามังกรแดงบางตัวที่โตเต็มวัย อายุ 4-5 ปี ราคาจะอยู่ที่ตัวละ 300,000-400,000 บาท

แต่การจะเลี้ยงปลามังกรได้ จะต้องจดทะเบียนกับกรมประมง เพราะเป็นสัตว์คุ้มครอง อยู่ภายใต้สนธิสัญญาไซเตส บัญชีประเภท 1 เป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ ปลามังกรทุกตัวที่จะเพาะเลี้ยงต้องฝังไมโครชิป มีตัวเลข 15 หลัก แสดงที่มาของปลาตัวนั้นอย่างครบถ้วน ทั้งประเทศที่กำเนิด ประเภทสัตว์ จังหวัดที่เพาะเลี้ยง ปีที่เกิด เลขที่ฟาร์ม และเลขลำดับตัวปลาหรือรันนิงนัมเบอร์ที่ออกให้โดยกรมประมง ต้องมีครบตามนี้จึงจะเลี้ยงได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย
 
ดังนั้นจึงอยากแนะนำผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงปลามังกร หากจะซื้อต้องตรวจสอบที่มาของปลา และจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ที่สำคัญต้องร้องขอจากผู้ขาย คือ เลขไมโครชิป 15 หลัก เพื่อเช็กข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมประมงที่บันทึกรายละเอียดไว้ แต่ถ้าหากไม่มีหมายเลข 15 หลัก หรือไม่มีไมโครชิป ก็สันนิษฐานได้ว่าปลามังกรตัวนั้นอาจถูกนำเข้ามาหรือเพาะเลี้ยงแบบผิดกฎหมาย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark