ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

จุฬาฯ เผยผลวิจัย คนไทยออมเงินน้อยมาก ความพร้อมหลังเกษียณ ต่ำกว่า 40% แก่ไปจะลำบาก


จุฬาลงกรณ์ฯ เผยผลวิจัย “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” (NRRI)  พบค่าเฉลี่ยคนไทยมีเงินออมหลังเกษียณอยู่ที่ 40% แนะประชาชนตระหนักรู้ประโยชน์ของการออม ขณะที่ภาครัฐต้องมีบทบาทสนับสนุนทักษะทางการเงิน และนายจ้างต้องดูแลคุณภาพชีวิตลูกจ้างทั้งในวัยทำงานและหลังเกษียณ ส่วนแรงงานนอกระบบไม่ควรลงทุนสิ่งที่มีความเสี่ยง และต้องมีวินัยการออมที่สม่ำเสมอ

รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำ “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” (NRRI) เพื่อหาเครื่องมือวัดระดับความพร้อมหรือไม่พร้อมของคนในประเทศไทยหลังเกษียณ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ทั้งในระดับประเทศและระดับบุคคล

ทั้งนี้ พบว่าตัวเลขความพร้อมด้านการเงินค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมต่ำกว่า 40% ขณะที่ความพร้อมด้านสุขภาพมีความพร้อมในระดับที่สูงกว่ามิติด้านการเงิน ซึ่งการมีความพร้อมจากการมีความสุข ด้านสุขภาพสูงกว่าความพร้อมจากความสุขด้านการเงิน ดังนั้นต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอจึงเป็นอีกโจทย์หนึ่ง

โดยก่อนหน้านี้มีการสำรวจการใช้จ่ายของคนสูงวัย พบว่าจำนวนเงินที่จะเพียงพอที่จะอยู่รอดได้หลังเกษียณคือ 3 ล้านบาทต่อคน และต้องทยอยนำเงินมาใช้จ่ายต่อเดือนในระดับ 6,000-7,000 บาท แต่ปัจจุบันมีการใช้จ่ายกันที่ระดับ 10,000 บาทต่อเดือน หมายความว่ามีการใช้เงินมากกว่าที่มีอยู่

สำหรับผู้ที่มีส่วนด้านการออมที่สำคัญที่สุด อันดับแรกคือ ประชาชนทุกคนต้องมีความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการออม รองลงมาคือภาครัฐต้องมีบทบาทในการสนับสนุนทักษะทางการเงินของประชาชน ต้องมีนโยบายส่งเสริมให้คนมีทักษะและความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าต้องออม และจะนำไปสู่ความรู้ว่าจะออมอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ถูกหลอกทางการเงิน รวมทั้งส่งเสริมให้มีเครื่องมือการลงทุน ระบบการออมภาคบังคับ

และฝั่งนายจ้าง ที่ควรมองว่าการดูแลพนักงานไม่ใช่ดูแลเฉพาะเวลาที่ทำงานกับองค์กร แต่มองไปถึงว่าหลังเลิกทำงานกับนายจ้างแล้วควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ทำอย่างไรนายจ้างจะส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว และต้องคิดว่าถ้าลูกจ้างมีความมั่นคงในชีวิตแล้วโปรดักส์ทิวิตี้ของคนก็ดีขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น ใครยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ก็ควรต้องมี

BUGABOONEWS
ขอบคุณข้อมูลจาก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark