ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : เปิดเส้นทางฟอกเงินค้ามนุษย์

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ จะมาเจาะลึกเส้นทางการฟอกเงินของแก๊งค้ามนุษย์โรฮินจา ที่ตำรวจเพิ่งจับกุมตัวการใหญ่ได้ มีการซุกซ่อนเงิน เพื่อหนีกฎหมายอย่างไร ติดตามจาก คุณมะลิ แซ่ฉิ่น

16 กันยายน 2564 ตำรวจมาบอำมฤต จังหวัดชุมพร สกัดจับรถขนชาวโรฮินจา ซุกมาในรถ 8 คน สืบเสาะขยายผล จนพบว่าเชื่อมโยงกับคดีในพื้นที่นครศรีธรรมราช จนที่สุดก็พบเส้นทางการเงิน เชื่อมโยงไปหา นายอาลี ลาลู ชาวเมียนมา ซึ่งพักอยู่ในพื้นที่แม่สอด และยังเชื่อมไปหาเจ้าหน้าที่รัฐ สังกัดตำรวจตระเวณชายแดนอีก 3 นาย

ขนาดของผลประโยชน์ในธุรกิจนี้ สูงกว่าพันล้านบาท จากการแกะรอยสมุดบัญชีธนาคาร และโทรศัพท์ โยงไปหากลุ่มขบวนการทั้งในฝั่งไทย และเมียนมา โดยพบว่าเส้นทางการเงินล็อตแรก มากถึง 600 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1,600 ล้านบาท ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นการโอนข้ามประเทศ ครั้งละหลายแสน จนถึงหลักล้าน

นี่ทำให้ตำรวจต้องออกหมายจับบุคคลเกี่ยวข้อง และแจ้งให้ ปปง. เข้าร่วมยึดอายัดทรัพย์สิน ที่ได้มาจากการค้ามนุษย์ ซึ่งพบว่ากระจายอยู่ในหลายจังหวัด ทั้งภาคเหนือ และภาคใต้

แต่ที่น่าห่วงกว่านั้น คือ คนร้ายใช้วิธีการฟอกเงิน ด้วยการทำให้เงินโอนเหล่านั้น กลายเป็นเงินสกุลดิจิทัล ในรูปแบบพ็อตทองคำ หรือ บิทคอยน์ ซึ่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่า ตรวจสอบยากกว่าในอดีตมาก และการจะอายัด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการกองคดีที่ 3 ปปง. บอกว่า อายัดเงินจากคดีการค้ามนุษย์ ได้กว่า 200 ล้านบาท ซึ่งเงินเหล่านั้นจะตกเป็นของแผ่นดิน แต่จากนี้ไป เงินที่ได้มาจากการยึดอายัด จะถูกนำไปช่วยเหลือเหยื่อ ผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมกับยืนยันด้วยว่า การถอนรากถอนโคนขบวนการใหญ่ในการค้ามนุษย์ จะหมดไปได้ จะต้องจับมือกันทุกหน่วยและยึดทรัพย์เท่านั้น

ชีวิตระหกระเหินของโรฮินจา ที่ต้องการแสวงหาชีวิตใหม่ จะข้ามมาทางแม่สอด ก่อนจะพาลัดเลาะเข้าปริมณฑล เป้าหมายแรก หากญาติโรฮินจาในต่างแดนไม่ส่งเงินมาเพิ่ม ผู้หญิงจะถูกขายทอดไปค้าประเวณี ส่วนผู้ชายจะไปตามแหล่งงานกรรมกร เกษตร หรือ ประมง

สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้ ก็คือ กระบวนการยึดทรัพย์ผู้ต้องหาระดับหัวหน้า ที่เป็นชาวเมียนมา สมรสกับหญิงไทย และเปลี่ยนสัญชาติ หลบหนีหมายจับของไทย ที่เกี่ยวข้องกับคดีพลโทมนัส คงแป้น โดยอาศัยเปิดบริษัทนำเที่ยวในจังหวัดสงขลา เป็นธุรกิจบังหน้าขนคน ไปอาศัยอยู่ในย่านเศรษฐี กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จะทำได้อย่างไร และความร่วมมือระหว่างไทย มาเลเซีย จะหยุดยั้งขบวนการนี้ นำไปสู่การปรับระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ เทียร์ เป็นระดับ 1 อย่างที่รัฐบาลหวังได้หรือไม่

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark