ข่าวในหมวด ประเด็นร้อนออนไลน์

เสี่ยงสูญพันธุ์! รู้จัก "นกชนหิน" ครม.มีมติให้เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย


วันที่ 6 ก.ย.65 ที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม ได้แก่ "นกชนหิน" (Rhinoplex Vigil) ให้เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เนื่องจากนกชนหินเป็นสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด

นกชนหิน เป็นนกขนาดใหญ่ในวงศ์นกเงือก 1 ใน 13 ชนิดของไทย และเป็นนกเงือกชนิดหนึ่งที่มีสายพันธุกรรมเก่าแก่ยาวนานถึง 45 ล้านปีมาแล้ว

นกชนหินเป็นนกประจำถิ่นที่พบในป่าดิบชิ้นระดับต่ำ พบตั้งแต่แถบเทือกเขาตะนาวศรีลงมาทางใต้จนถึงประเทศมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว ในประเทศไทยกระจายเฉพาะตั้งแต่จังหวัดชุมพรจนถึงจังหวัดนราธิวาส พบเป็นกลุ่มขนาดเล็กในป่าดิบชื้นระดับต่ำ มีกลุ่มประชากรหลักอยู่ในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง

โดยปกตินกชนหินจะหากินในระดับยอดไม้ กินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ เช่น ลูกไทร บางครั้งพบว่ากินสัตว์อื่น ๆ เช่น กิ้งก่า กระรอก และนกอีกด้วย ด้านวิถีชีวิตนกชนหินมักจะอยู่โดดเดี่ยวหรืออยู่เป็นคู่ ฤดูผสมพันธุ์เริ่มราวปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทำรังในต้นไม้สูง และใช้วัสดุปิดปากรังเช่นเดียวกับนกเงือกชนิดอื่นๆ

รังของนกชนหินจะไม่เหมือนกับนกเงือกชนิดอื่นๆ เพราะจะหารังเฉพาะที่อยู่บนตอไม้หรือเข้าได้ทางด้านบนเท่านั้น เพราะส่วนหัวที่ตันและหางที่ยาว อีกทั้งนกชนหินจะเลี้ยงลูกนานกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ คือ 5 เดือน โดยที่แม่นกจะอยู่กับลูกในโพรงตลอดเวลา ไม่มีการพังโพรงออกมาก่อน


นกชนหิน เป็นที่นิยมในตลาดมืด องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จึงปรับสถานภาพการอนุรักษ์นกชนหิน จากสัตว์ป่าใกล้ถูกคุกคาม เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

ปัจจุบันมีนกชนหินในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยมาก ประมาณไม่เกิน 100 ตัว และมีปัจจัยคุกคามสูง เนื่องจากนกชนหินมีโหนกที่ตันและสวยงามเหมือนลักษณะของงาช้าง ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดค้าสัตว์ป่า ส่งผลให้เกิดการลักลอบล่านกชนหินอย่างมาก จนกระทั่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้จะกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 410 แล้วก็ตาม จึงต้องยกระดับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าสงวน

นอกจากยกระดับการคุ้มครองทางกฎหมายแล้ว ยังช่วยสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ สอดคล้องกับสถานการณ์อนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในระดับนานาชาติ ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 3 แสนบาท ถึง 1.5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


 
BUGABOONEWS
ข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, wikipedia

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark