ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ย้อนปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับการเมืองภายใน ครม.

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ชวนท่านผู้ชมไปติดตามปัญหาเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เมื่อวานนี้ ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคม จ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เป็นเงินเกือบ 12,000 ล้านบาท จะมีการชำระหนี้หรือไม่ ปัญหาการเมืองภายใน ครม.เกี่ยวกับเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ติดตามกับคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร

เป็นการออกคลิปทวงหนี้จากผู้บริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่สุดท้ายการชำระหนี้ไม่เกิด แถมไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการขยายสัมปทาน 30 ปี ทำให้มีการนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

ซึ่งเมื่อวานนี้ ศาลฯพิพากษาให้ กทม.และกรุงเทพธนาคม ชำระค่าจ้างเดินไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 สัญญา บวกดอกเบี้ย เป็นเงิน 11,754 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคำตัดสินนี้ยังไม่ถึงที่สุด ซึ่ง กทม. ก็เตรียมที่จะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

สำหรับข้อพิพาทนี้ สืบเนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กทม.ให้สัมปทานกับ BTS พัฒนาส่วนต่อขยาย ช่วงอ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และจ้าง BTS เดินรถไฟฟ้า รวมถึงวางระบบรถไฟฟ้าและการซ่อมบำรุง โดยเปิดให้บริการมา 2 ปีเศษ  แต่ยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร

หนี้สองก้อนนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีความพยายามขอขยายสัมปทานไปอีก 30 ปี จากเดิมสิ้นสุดในปี 2572 เป็นปี 2602 แลกกับ กทม.ไม่ต้องจ่ายหนี้ และค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท ซึ่ง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถฝ่าด่านความเห็นชอบของ ครม. ได้ เนื่องจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคัดค้าน

โดยในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีวาระพิจารณาเรื่องการขยายสัมปทาน 30 ปี 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย บอยคอต พร้อมใจลาประชุม แสดงจุดยืนค้านแบบสุดซอย วาระดังกล่าวจึงไม่ได้รับการพิจารณา ปัญหายังคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้ กทม.และกรุงเทพธนาคม ต้องชำระเงินทั้งสองก้อนนี้ จะทำให้เรื่องการขอขยายสัมปทาน 30 ปี คืนชีพกลับมาอีกครั้งหรือไม่ แต่ขณะเดียวกันก็มีความเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกัน

กทม.ภายใต้การบริหารของผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ยังต้องจับตา เพราะเรื่องหนี้ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่ต้องแก้ แต่ยังมีโจทย์ใหญ่ ทำอย่างไรให้คนกรุงเทพฯเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้ ไม่ใช่จบที่คนจนขึ้นได้แค่รถเมล์ร้อน ส่วนรถไฟฟ้าได้แต่ชะเง้อตามอง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark