ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

กทม.เฝ้าระวังวิกฤตน้ำท่วม ถึง 10 ก.ย.นี้

ข่าวสังคม 9 กันยายน 2565 - เช้าข่าว 7 สี - กรุงเทพมหานคร ยอมรับสถานการณ์ฝนช่วงนี้เป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม ในช่วง 4 วันอันตราย จับตา 4 วิกฤตน้ำฝน น้ำเหนือ น้ำหนุน และน้ำในคลอง

กทม.เฝ้าระวังวิกฤตน้ำท่วม ถึง 10 ก.ย.นี้
ช่วงนี้ ฝนตกหนักต่อเนื่อง สะสมเกินกว่า 100 มิลลิเมตร เป็นฝนหนักที่สุดในรอบ 20 ปี การเร่งการระบายน้ำจากถนนไปสู่คลอง ทำให้น้ำเต็มคลองสายหลักเกือบทุกคลองแล้ว ทั้งคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองประเวศบุรีรมย์ ขณะที่ คลองแสนแสบก็ใกล้เต็มแล้ว จะรับน้ำได้อีกไม่มาก

กทม.สรุปเป็นวิกฤตน้ำ 4 เรื่อง ทั้งน้ำในคลองสายหลัก ที่พยายามเร่งระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว แต่ช่วงนี้ก็มีฝนมาเติมอีกทุกวัน เพราะร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่าน กทม. จึงมีโอกาสเกิดฝนตกหนักได้อีก ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำเหนือที่ปล่อยลงมามากถึง 1,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนี้ ช่วงนี้ ถึงวันที่ 10 กันยายน เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง

จาก 4 ปัจจัยนี้ ประกอบกันทำให้มีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ กทม.จะเฝ้าติดตาม และแจ้งเตือน ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 3 ชั่วโมง

ระดับน้ำคลองรังสิต อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงอันตรายสูงสุด
ขณะที่ เทศบาลนครรังสิต โพสต์แจ้งเตือนประชาชน หลังสถานการณ์น้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เขื่อนสะพานแดง ระดับน้ำอยู่ที่ 1 เมตร 85 เซนติเมตร แจ้งสถานะธงแดง เตือนสภาวะระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงอันตรายสูงสุด ให้ประชาชนอาศัยอยู่ในสถานที่ปลอดภัยและเพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม เทศบาลฯ เตรียมสถานที่จอดรถ 3 จุด ได้แก่ โดมซอยรังสิต-นครนายก 30, อาคาร 100 ปี เมืองธัญบุรี

และทางขึ้นโทลเวย์ และประกาศใช้สถานศึกษาที่เป็นศูนย์พักพิงสถานการณ์น้ำท่วม เทศบาลนครรังสิต ได้แก่ โรงเรียนดวงกมล, โรงเรียนประถมศึกษานครรังสิต,โรงเรียนนครรังสิต สิริเวชชะพันธ์,โรงเรียนมัธยมนครรังสิต และโรงเรียนเพียรปัญญา

ด้านกรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่องเพิ่มเติมในส่วนที่เสียหาย เสริมที่สถานีสูบน้ำปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จังหวัดปทุมธานี เพื่อเร่งสูบระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หวังลดระดับน้ำในคลอง บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

กรมอนามัย เตือนหน้าฝนเสี่ยงเจอเห็ดพิษ
หน้าฝนอย่างนี้ อากาศชื้นแฉะ เป็นฤดูกาลเก็บเห็ดป่า ก็มีคำเตือนมาจากกรมอนามัย ถึงการเลือกเก็บเห็ดมากิน ซึ่งนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปีมักมีรายงาน พบชาวบ้านมีอาการแพ้ และเจ็บป่วยจากสาเหตุกินเห็ดพิษเข้าไป จึงไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี หรือ เห็ดที่ขึ้นในบริเวณพื้นที่ที่ทำการเกษตรโดยใช้สารเคมี เนื่องจากเห็ดสามารถดูดซับสารพิษได้ดี หากเจอเห็ดที่ไม่แน่ใจว่ากินได้หรือไม่ ก็ไม่ควรเก็บมา ให้เลือกกินเฉพาะเห็ดที่รู้จักและคุ้นเคย หากไม่แน่ใจก็ไม่ควรกินจะปลอดภัยที่สุด เพราะอาจเป็นเห็ดพิษหรือก่อให้เกิดอาการแพ้ และห้ามกินเห็ดดิบ ๆ โดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ ลักษณะเห็ดพิษที่พอสังเกตได้ คือ มีสีสัน หากกินเห็ดเข้าไปแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้เตรียมน้ำอุ่นผสมผงถ่าน Activated Charcoal แล้วดื่ม 2 แก้ว ซึ่งแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อน แล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง ไม่ควรใช้ไข่ขาวดิบเพราะจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่มหรือติดเชื้อได้ จากนั้นให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark