ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

เสนอแก้กฎหมายล็อกล้อรถ หลังพบอาจขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

เช้านี้ที่หมอชิต - เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว หลายคนอาจจะยังจำได้กับเหตุการณ์ชายคนหนึ่งโพสต์ว่า จอดรถในที่ห้ามจอด เพราะต้องคุยโทรศัพท์ ถูกตำรวจล็อกล้อทันควัน ขณะตัวอยู่ในรถติดเครื่องอยู่ ปัญหานี้ก็เกิดทัวร์ลงชายคนดังกล่าวที่ทำผิดกฎหมาย แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตชวนคิดว่า กฎหมายที่มอบอำนาจให้ตำรวจล็อกล้อได้ ควรถึงเวลาต้องแก้ไขบ้างหรือยัง 

เป็นช่วงวินาทีเกิดเหตุ ที่เจ้าของรถยนต์ไม่พอใจที่ถูกตำรวจล็อกล้อ ทั้งที่อยู่ในรถติดเครื่องและนั่งโทรศัพท์คุยงานอยู่ ต้องไปจ่ายค่าปรับ หนำซ้ำชายในคลิปยังเดินไปที่ทางม้าลายห่างไปราว 50 เมตร ก็พบมีรถจอดอยู่ แต่กลับไม่ถูกล็อกล้อเหมือนกับรถตนเอง

เรื่องนี้ นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ไม่ได้ห้ามตำรวจทำตามกฎหมายจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 59 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่จราจรดำเนินการกับผู้ที่จอดรถฝ่าฝืนตาม มาตรา 57 โดยเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้คนขับเคลื่อนย้ายรถ หรือยกรถเคลื่อนย้ายเอง หรือจะใช้เครื่องมือล็อกล้อก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และการใช้ดุลยพินิจ เมื่อรถถูกล็อกล้อก็ขับเคลื่อนที่ไม่ได้ เจ้าของรถต้องไปชำระค่าปรับ รวมทั้งชำระค่าล็อกล้อตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงจะมาถอดเครื่องมือออกก่อนขับขี่รถต่อไปได้

ตรงนี้ก็มีประเด็นอยากชวนสังคมขบคิด คือ การใช้เครื่องมือล็อกล้อรถ เหมาะสม หรือเป็นการละเมิดสิทธิการเดินทางของบุคคลหรือไม่ จึงมีการเสนอแก้กฎหมายการให้อำนาจจราจร "ล็อกล้อรถ" เพราะจริง ๆ แล้ว มีวิธีอื่นใช้ลงโทษผู้กระทำความผิด เช่น เพิ่มค่าปรับให้สูงขึ้น หรืออาจมีโทษจำคุก อีกทั้ง วันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า กฎหมายจราจรทางบก มาตรา 59 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จราจรดำเนินการกับผู้ขับขี่รถที่จอดฝ่าฝืนว่า ขัดหรือแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 38 หรือไม่ด้วย

เรื่องนี้ทีมข่าวของเราโทรศัพท์สอบถามทั้งกับ โฆษก ตร. และ โฆษก บชน. เพื่อให้วิเคราะห์เชิงข้อกฎหมายถึงอำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เบื้องต้น ยังไม่มีท่านใดสะดวกในการให้ข้อมูล

ทั้งนี้ ทางเราก็ไม่ได้มีการสนับสนุนให้ประชาชนทำผิดกฎหมายจราจร เพียงแต่มีประเด็นที่ออกมาตั้งข้อสังเกตก็มีเหตุผลอีกด้านน่าคิด ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องติดตามศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ส่วนพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากคลิปก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า  การทำงานของตำรวจจราจรมี 2 มาตรฐาน หรือไม่

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark