ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

จับตา วันนี้ ครม.เคาะช่วยค่าไฟ-ต่ออายุลดภาษีดีเซล

เช้านี้ที่หมอชิต - เลื่อนมาหลายครั้งสำหรับมาตรการช่วยค่าไฟฟ้า และต่ออายุลดภาษีน้ำมันดีเซล วันนี้ไม่เลื่อนแล้ว กระทรวงพลังงาน จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ซึ่งต้องจับตาว่าจะทำคลอดมาตรการบรรเทาภาระประชาชนออกมาอย่างไร

อย่างที่ทราบกันดีว่า เดือนนี้คือเดือนแรกที่ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นเป็น 4 บาท 72 สตางค์ต่อหน่วย และค่าก๊าซหุงต้ม ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ทำให้ภาครัฐก็ต้องมีการคิดค้นมาตรการออกมาแบ่งเบาภาระประชาชน โดยวันนี้ กระทรวงพลังงาน จะเสนอแพ็กเกจช่วยบรรเทาภาระประชาชน ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าจะช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม และ เดือนกันยายนถึงธันวาคม รวม 92.04 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคมนี้ และ กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้า 301-500 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่าเอฟทีเดือนกันยายนถึงธันวาคมแบบขั้นบันได 15-75%

ขณะที่ ค่าก๊าซหุงต้ม ได้ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซหุงต้ม โดยขยายเวลาให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นอีก 55 บาท รวมเป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายนนี้

นอกจากนี้ จะมีการเสนอมาตรการต่ออายุลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นครั้งที่ 3 หลังจากเคยต่ออายุมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 20 กันยายนนี้ โดยตลอดการลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้รัฐขาดรายได้ไปแล้วราว 5.71 หมื่นล้านบาท หากมีการต่ออายุไปอีก 2 เดือน ก็จะทำให้รัฐขาดรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2 หมื่นล้านบาท รวม 7.71 หมื่นล้านบาท

เรื่องนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบกว่า 2 แสนล้านบาท ในการดูแลบรรเทาค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชน

แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่าช่วยเหลือเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังมีความเดือดร้อนจากกลุ่มแท็กซี่ ซึ่งวันนี้จะมีความเคลื่อนไหวจาก 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ สมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย นัดรวมพลยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หลังมีการประกาศลอยตัวราคาก๊าซทั้ง แอลพีจี และก๊าซเอ็นจีวี ขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ทั้งการปรับลดราคา, การช่วยเหลือผ่านบัตรส่วนลด และส่งเสริมให้นำรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามาให้บริการเป็นรถแท็กซี่อย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบ

ด้าน แท็กซี่ 4 สมาคม นัดหารือที่กรมการขนส่งทางบก ร่วมพิจารณาแนวทางปรับขึ้นค่าโดยสารในรอบ 8 ปี โดยก่อนหน้านี้ตัวแทนสมาคมให้ร้องขอขึ้นค่าโดยสาร เริ่มต้น สำหรับรถยนต์ขนาด 1,600-1,800 ซีซี ที่ 45 บาท ส่วนรถยนต์ขนาด 2,000 ซีซีขึ้นไป ปรับขึ้นเป็น 50 บาท จากนั้นคิดเป็นขั้นบันไดตามระยะทาง คาดว่าภายในปลายปี 2565 จะเห็นภาพการขึ้นราคาที่ชัดเจนขึ้น

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark