ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

พรรคประชาธิปัตย์ ไขว้ พรรคภูมิใจไทย ปมหนี้ กยศ. ปลอดดอกเบี้ย เว้นค่าปรับ

เช้านี้ที่หมอชิต - เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ใครเป็นลูกหนี้ กยศ. อยู่ก็ได้เฮกันไป เพราะสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบกับร่างกฎหมาย กยศ. ทำให้ลูกหนี้ได้ประโยชน์ 3 เด้ง คือ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ยกเว้นค่าปรับ รวมถึงไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน แถมให้มีผลย้อนหลังถึงผู้กู้รายเดิมด้วย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีความเป็นห่วงว่า นอกจากจะทำให้ลูกหนี้ไม่มีวินัยทางการเงินแล้ว ยังจะกระทบต่อสถานะของกองทุนฯ จนสุดท้ายรัฐต้องใช้งบประมาณเข้าไปอุดหนุน

ความจริงเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นแตกเป็น 2 แนวทาง แม้แต่ สส.พรรคร่วมรัฐบาล ไปจนถึง สส.พรรคฝ่ายค้าน ด้วยกันเอง ก็ยังเห็นไม่ตรงกัน

ประชาธิปัตย์ คัดค้านการไม่เก็บดอกเบี้ย ส่วน ภูมิใจไทย หนุนสุดตัว สุดท้ายผลออกมาฝ่ายที่ไม่ให้เก็บดอกเบี้ย ยกเว้นค่าปรับ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันชนะไป ท่ามกลางความกังวลว่า จะกระทบต่อวินัยของลูกหนี้ และฐานะการเงินของกองทุนฯ จนทำให้รัฐต้องใส่เงินเติมไปอุดหนุน หลังจากที่กองทุนฯ ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณมาตั้งแต่ปี 2561

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. ให้ข้อมูลว่า กองทุนฯ นี้ ดำเนินการมาแล้ว 27 ปี มีเงินหมุนเวียน 400,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ไปแล้ว 6.9 แสนล้านบาท ยอดจำนวนผู้กู้อยู่ที่ราว 6.2 ล้านคน มีผู้ปิดบัญชีชำระหนี้แล้ว 1.6 ล้านคน เสียชีวิต 67,000 คน กำลังศึกษาอยู่ 1 ล้านคน และอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มีผู้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 71.43 % ของลูกหนี้ ซึ่งถือว่าสูงมาก โดยในส่วนนี้คิดเป็นเงินต้นราว 9 หมื่นล้านบาท

หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ตามที่สภาฯ ให้ความเห็นชอบก็จะเกิดปัญหาในการบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนฯ จนส่งผล กระทบต่อการปล่อยกู้ให้นักเรียนรุ่นต่อไป เพราะแต่ละปีกองทุนจะมีสภาพคล่องที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ 6,000 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน 2,000 ล้านบาท เมื่อไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายรับส่วนนี้ก็จะหายไป

จากข้อมูลเหล่านี้ก็ทำให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมนำไปชี้แจงต่อวุฒิสภา ที่จะพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เห็นถึงข้อดี ข้อเสียของการกู้ยืมเงิน กยศ.ปลอดดอกเบี้ย และยกเว้นค่าปรับ โดยสิ่งสำคัญคือต้องมีวินัย คืนเงินต้น เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้ยืมต่อ

ด้าน นายพูม ชินโชติกร นักธุรกิจร้อยล้าน ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษากู้เงินจาก กองทุน กยศ. ก็เป็นห่วงว่า หากเป็นไปตามที่สภาฯ ผ่านร่างกฏหมายกองทุนฯ จริง อาจทำให้เกิดความลักลั่นระหว่างผู้ที่จ่ายหนี้กับ กยศ. ครบแล้ว

หนำซ้ำที่น่าเป็นห่วง คือ หากสถานะของกองทุนฯ ไม่มีรายได้เข้ามา และรัฐบาลไม่ให้งบประมาณอุดหนุน อาจหมายถึงนักเรียนนักศึกษาอีกไม่น้อยต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินกู้อื่นมาใช้เรียน อาทิ ธนาคารพาณิชย์ หรือ เงินกู้นอกระบบ จนเกิดเป็นหนี้ก้อนโตมากกว่าการกู้เงิน กับ กยศ. หรือ บางคนอาจไม่มีเงินเรียนเลยก็ได้

หลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่วุฒิสภา ต้องกลั่นกรองร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยพิจารณาทั้งข้อดี ข้อเสีย เพื่อให้ได้เนื้อหาที่คุ้มครองลูกหนี้ กยศ. แต่ไม่กระทบต่อวินัยการชำระหนี้ และฐานะของกองทุนฯ ด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark