ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : สุเทพ ไม่หนี ไปศาลฎีกาฯ ฟังคำพิพากษา คดีโรงพักร้าง

เช้านี้ที่หมอชิต - 09.00 น. วันนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะอ่านคำพิพากษาคดีที่ ป.ป.ช.ฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 6 คน กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทน และโครงการก่อสร้างแฟลตตำรวจ เป็นคดีใหญ่ ที่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร จะส่งแรงสะเทือนไปถึงกระดานการเมือง มีปมไหนให้คลี่บ้าง เราจะไปตีตรงจุดกัน

เริ่มกันที่ตัวคดีก่อน คดีนี้ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ) จำนวน 396 แห่ง ของตำรวจภูธรภาค 1-9 วงเงินงบประมาณ 5,848 ล้านบาท

เส้นทางคดีนี้ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดไปตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2562 แต่เมื่อส่งสำนวนคดีไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด กลับมีความเห็นไม่ตรงกัน จนต้องตั้งคณะกรรมการร่วมฯ ใช้เวลาเกือบ 2 ปี ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ สุดท้ายอัยการสูงสุดก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เมื่อเดือนมิถุนายน 2564

จากนั้น 30 พฤศจิกายน 2564 ป.ป.ช.ได้นำตัวนายสุเทพและพวก ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ กระทั่งนัดอ่านคำพิพากษา 09.00 น.วันนี้ ซึ่งนายสุเทพ ยืนยันกับทีมของเราว่าจะเดินทางไปฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง

สำหรับพฤติการณ์กระทำผิด ป.ป.ช.สรุปสำนวนว่า นายสุเทพ และพลตำรวจเอกปทีป เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญา มาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว โดยบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา มีนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นผู้ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอ ราคาต่ำอย่างผิดปกติ

ขณะที่ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ และ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติ และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้น ไปใช้ในการขออนุมัติจ้าง และใช้ประกอบเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา

ต่อมาบริษัท พีซีซี ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษ นายสุเทพ และพลตำรวจเอกปทีป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ และ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151,157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และลงโทษบริษัท พีซีซี กับนายวิศณุ วิเศษสิงห์ ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด

ด้าน นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีต สส.พรรครักประเทศไทย ที่เคยเป็นผู้เปิดประเด็นเรื่องนี้ในสภาฯ เปิดแถลงข่าวระบุ ไม่ได้คาดหวังอะไร คดีนี้ใช้เวลาถึง 10 ปี ซึ่งพิสูจน์นโยบายปราบปรามคอร์รัปชันของรัฐบาลอย่างจริงจัง ไม่มีวันที่จะทำได้ เพราะคดีนี้ไม่มีความซับซ้อน แต่ยังใช้เวลานาน

ส่วนโรงพักร้างที่สร้างไม่เสร็จ ส่วนใหญ่ในขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว อย่างที่คุณผู้ชมเห็นอยู่นี้ คือ สถานีตำรวจภูธรสามพราน จังหวัดนครปฐม เปิดใช้บริการตามปกติ แม้การก่อสร้างจะหยุดชะงักไปพักหนึ่งก็ตาม

เช่นเดียวกับ สถานีตำรวจภูธรท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการตามระบบ และปรับปรุงโครงสร้างภายใน เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายกับประชาชนที่มาใช้บริการ

แหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า โครงการการก่อสร้างโรงพัก ที่กลายเป็นปัญหาโรงพักร้าง เนื่องจากบางแห่งผู้รับเหมาทิ้งงาน ปัจจุบันสามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจนครบ 396 แห่ง

จบเรื่องคดี เรามาคลี่ปมการเมือง อย่างที่จั่วหัวไว้ว่าคดีนี้ คำพิพากษาก็จะส่งผลสะเทือนการเมือง เพราะ นายสุเทพ เป็นเพลย์เมกเกอร์ทางการเมืองคนหนึ่ง เป็นผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งเปลี่ยนชื่อพรรคเป็นรวมพลัง มี สส.ในสังกัด 5 คน มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งนายสุเทพ ก็ยอมรับว่าคำพิพากษาในคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นลบหรือบวกต่อตัวเขา ย่อมมีผลกระทบต่อพรรครวมพลัง ไม่มากก็น้อย

สำหรับนายสุเทพ เคยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามของกลุ่ม กปปส. คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย จน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นประกาศยุบสภา ก่อนที่จะพ้นตำแหน่งไป จากกรณีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

โดยในช่วงปี 2556-2557 การเมืองเรียกว่าเขม็งเกลียวมาก เมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งไป 15 วัน ก็เกิดการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ขณะที่แกนนำกลุ่ม กปปส. รวมถึงนายสุเทพ ต่างก็ถูกดำเนินคดี กระทั่งหลายคนต้องพ้นจากตำแหน่ง สส. และรัฐมนตรีไปแล้ว

และวันนี้จะเป็นอีกหนึ่งวิบากกรรมของนายสุเทพ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า ติดคุกตอนคดี กปปส.ทำเพื่อแผ่นดิน ไม่อับอาย แต่คดีนี้ต้องพิสูจน์ความจริงให้ได้ เพราะเป็นการกล่าวหาทุจริตที่สร้างความเสื่อมเสียทั้งต่อตัวเองและครอบครัว จึงต้องรอดูว่าสุดท้าย ศาลฎีกาฯจะมีคำพิพากษาอย่างไร ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้คู่กรณียื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ภายใน 30 วัน หลังศาลฯ มีคำพิพากษา

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark