ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ทนาย ชี้ สุนัขจรจัดหรือไม่ ดูที่คนให้อาหาร

เช้านี้ที่หมอชิต - มีประชาชนคนหนึ่งเขาได้รับผลกระทบจากสุนัขจรจัดที่มาปีน และตะกุยรถจนได้รับความเสียหาย จึงต้องการโพสต์เตือนภัย และฝากไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ ขณะที่ ทนายรณณรงค์ บอกว่า เรื่องนี้ให้ดูที่คนให้อาหาร เพราะใครให้อาหารถือเป็นเจ้าของสุนัขตามกฎหมาย

นี่เป็นวงจรปิดที่จับภาพสุนัขจรจัด 5 ตัวไว้ได้ ในระหว่างที่พวกมันกำลังตะกุยฝากระโปรงรถ และคุ้ยเขี่ยฝากระโปรงคล้ายกำลังหาอะไรอยู่ โดยกระโดดขึ้นลงฝากระโปรงรถหลายครั้ง ซึ่งคลิปนี้ถูกโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก Tongta Somboon เพื่อเตือนคนอื่น ๆ และกลัวว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของจังหวัด ซึ่งรถคันนี้จอดอยู่ที่หน้าบ้านหลังหนึ่งในตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

นายนำชัย สมบูรณ์ เจ้าของโพสต์ บอกว่า ตัวเองได้ยินเสียงสุนัขเห่าอยู่บริเวณหน้าร้าน จึงลุกขึ้นมาดูกล้องวงจรปิด พบว่ามีสุนัขจำนวน 5-6 ตัว กำลังเห่าหนู ซึ่งคาดว่าน่าจะแอบอยู่ใต้ท้องรถ และพบสุนัขบางตัวได้ปีนขึ้นไปบนฝากระโปรงรถเก๋งของน้องชาย จึงเปิดประตูออกมามาไล่สุนัข พอรุ่งเช้าสำรวจรถพบว่ามีรอยขีดข่วนบนฝากระโปรง และรอยเท้าสุนัขบนหลังคาเต็มไปหมด

นายนำชัย ยอมรับว่า ตัวเองก็เป็นคนรักสุนัข แต่ช่วงหลังสุนัขจรจัดเริ่มเยอะขึ้น เพราะมีตลาดสดใกล้บ้าน ทำให้มีเศษอาหาร และมีคนในตลาดบางคนให้อาหารมันด้วย พบปริมาณเยอะขึ้น และก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชาวบ้าน จากการส่งเสียงเห่าหอนในช่วงกลางคืน และจับกลุ่มกันในห้วงฤดูผสมพันธุ์ คุ้ยเขี่ยถังขยะเพื่อหาอาหาร ทำให้เกิดความสกปรก และยังเคยมีนักท่องเที่ยวถูกสุนัขเหล่านี้กัดได้จนรับบาดเจ็บมาแล้ว จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการปัญหาให้ และขอความเห็นใจจากคนที่ชอบให้อาหารสุนัข

เรื่องนี้มีมุมกฎหมายน่าสนใจ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม บอกว่า อันดับแรกเราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสุนัขเป็นสุนัขมีเจ้าของ หรือ เป็นสุนัขจรจัด ถ้าเป็นสุนัขมีเจ้าของแล้วปล่อยให้ไปทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ก็ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 433 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าของ ทีนี้ถ้าสมมติว่าสุนัขจรจัด 100% ก็จะไม่สามารถเอาผิดใครได้ เจ้าของต้องรับสภาพ

แต่ปัจจุบันมีกฎหมายที่ชื่อ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ซึ่งมีมาตราที่ระบุไว้ว่า คนที่ให้อาหาร และที่พักแก่สัตว์คือเจ้าของตามกฎหมาย ดังนั้นกรณีนี้ให้หาคนให้อาหาร และไปฟ้องร้อง ส่วนสุนัขหากสร้างความเดือดร้อนรำคาญก็ต้องแจ้งเทศบาลให้มาจัดการ เพราะเป็นหน้าที่ของเทศบาลนั้น ๆ หากไม่ดำเนินการก็เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ทนายรณณรงค์ ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมามีหลายเขตเทศบาลที่พยามหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ อย่างเทศบาลรังสิต ก็เคยออกเทศบัญญัติห้ามให้อาหารสัตว์ เพราะเวลามีปัญหามักจะหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มีการให้ข้าว ให้น้ำ ให้ที่พักกับสัตว์เหล่านั้น

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark