ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : 8 ปี ยังไม่รื้อถอน รีสอร์ตดังมวกเหล็กรุกป่า กังขาเอื้อประโยชน์

เกาะติดกันมานานกับความคืบหน้าในการรื้อถอนรีสอร์ตชื่อดังในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนกว่า 500 ไร่ ถึงวันนี้ผ่านมา 8 ปี ก็ยังไม่มีการดำเนินการ แม้จะปักป้ายครบ 30 วัน เจ้าของอาคาร 29 หลัง ก็ไม่ปรากฏตัวร้องคัดค้าน แต่เหตุใดยังรื้อถอนไม่ได้ ติดตามจากรายงานคุณมะลิ แซ่ฉิ่น

หลังจากผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) ดำเนินการปักป้ายให้รีสอร์ตมวกเหล็ก ฮิลไซด์ ที่ก่อสร้างรุกที่ป่าสงวนตั้งแต่ปี 2557 กินพื้นที่กว่า 500 ไร่ รื้อถอนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ตอนนี้ผ่านมากว่า 1 เดือน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนอกจากป้ายที่ปักไว้ แทบไม่มีการดำเนินการทุบทำลายตามคำสั่ง ทั้งยังไม่มีใครออกมาแสดงตนคัดค้าน ทั้งที่เรื่องนี้ผ่านมาร่วม 8 ปี

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นทำให้ ปปท. ถูกทวงถามถึงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เพราะคดีนี้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากนายทุน และผู้ซื้อที่ดิน ขาดเจตนา แต่นี่ไม่ใช่เงื่อนไข ที่จะอ้างไม่รื้อถอน เพราะก่อนหน้านี้ กรมป่าไม้ มีคำสั่งยึดอายัดแล้ว เนื่องจากบุกรุกผืนป่า

ผอ.ปปท. บอกว่านอกจากรีสอร์ตจะไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่ง ยังมีความพยายามในการจัดสรรที่ดินออกมาขายเพิ่มเติมให้กับกลุ่มคนดังและไฮโซนามสกุลดังเกือบ 60 แปลง ซึ่งที่ผ่านมามีการติดตามทวงถามเรื่องนี้มาตลอดจนเปลี่ยนผู้อำนวยการสำนักงานป่าไม้ที่ 5 มาแล้วหลายคน

ทั้งระบุว่าหากหลังจากนี้ยังไม่เห็นผล เห็นทีจะต้องร้องไปที่ ป.ป.ช. ว่าเจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะตามขั้นตอน ตอนนี้ป่าไม้ควรดำเนินการจับกุมผู้บุกรุก ตามมาตรา 33 ทวิ ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกรมป่าไม้แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีการดำเนินการเช่นกัน

คอลัมน์หมายเลข 7 สอบถามไปยังผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) ซึ่งเพิ่งมารับตำแหน่งได้เพียง 5 เดือน ยืนยันว่า กระบวนการในการบังคับใช้กฎหมายเริ่มต้นขึ้นแล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ซึ่งหลังจากปักป้ายไป มีผู้แสดงตน 2 ราย ประสงค์ที่จะรื้อถอนเอง ส่วนอีก 26 อาคาร ซึ่งอยู่ในโซนของพื้นที่รีสอร์ตที่มีมากกว่า 100 ไร่ กำลังยื่นของบประมาณจากกรมป่าไม้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยอาคารละ 200,000 บาท

ทั้งนี้ยืนยันว่าหากได้รับการจัดสรรงบประมาณก็จะบูรณาการกับท้องถิ่น เพื่อระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องมือหนัก เข้าไปทำการรื้อถอน และจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการหรือถอน กับผู้ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ตามรายชื่อก่อนหน้านี้ ผ่านกระบวนการทางศาล โดยยืนยันว่าคงใช้เวลาอีกไม่นานนัก ก็จะสามารถคืนสภาพพื้นป่า ให้กลับมาเป็นพื้นที่ร่องลมโลก ซึ่งเป็นปอดฟอกอากาศชั้นดี ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ

ยังต้องติดตามกันต่อไปว่า เรื่องราวที่ยืดเยื้อมานานกว่า 8 ปี จะได้บทสรุปอย่างไร จะเรียกคืนปอดกลับสู่ธรรมชาติได้จริงหรือไม่ จะมีใครอยู่เบื้องหลังการครอบครองผืนป่าที่มีอำนาจเหนือการบังคับใช้กฎหมายหรือเปล่า เหล่านี้ล้วนเป็นบทพิสูจน์ความเอาจริงเอาจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark