ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : ไขปมกฎหมายยุติการตั้งครรภ์

เช้านี้ที่หมอชิต - ตีตรงจุด วันนี้ ชวนท่านผู้ชมไปติดตามสถานการณ์ท้องไม่พร้อมในประเทศไทย ปัจจุบันสถิติเป็นอย่างไร ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เพิ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ หรือทำแท้ง จะช่วยลดปัญหาสังคม หรือยังมีมุมมอ่อนไหวอะไรที่ต้องระมัดระวังบ้าง จะได้รู้ครบ จบในช่วงนี้

มาไล่เรียงกันดูก่อนว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะยุติการตั้งครรภ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมา ก็จะมีตั้งแต่อายุครรภ์เกิน 12 ถึงไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยไม่มีความผิดอาญา แต่ต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หญิงนั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านก่อนการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์

สำหรับสาเหตุที่มีการเปิดทางเลือกให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ ก็เพื่อแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม และลดแรงจูงใจในการทำแท้งแบบผิดกฎหมาย หรือ ทำแท้งเถื่อน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง และชีวิตของทารกในครรภ์ อีกทั้งสร้างความมั่นใจต่อบุคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยสมัครใจอย่างถูกกฎหมายด้วย

จากข้อมูลสถิติของสาธารณสุข พบว่า คุณแม่วัยใส กลุ่มอายุ 15-19 ปี ในปีที่แล้ว มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ต่อ 1,000 ประชากร ส่วนกลุ่มอายุ 10-14 ปี อยู่ที่ 0.9 ต่อ 1,000 ประชากร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายลดปัญหาท้องไม่พร้อม กลุ่มอายุ 15-19 ปี ให้เหลือ 15 ต่อ 1,000 ประชากร ภายในปี 2570 และคงเป้าหมายคลอดในวัยรุ่น 10-14 ปี ไม่เกิน 0.5 ต่อ 1,000 ประชากร ภายในปี 2570 เช่นเดียวกัน การเปิดช่องให้มีการยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมาย จะเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งในการลดภาวะท้องไม่พร้อมได้

แต่ในมุมมองของสูตินรีแพทย์ กล่าวถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ว่า อาจช่วยแก้ไขประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ได้นิดหน่อย เนื่องจากแพทย์มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการทำแท้งเลย, กลุ่มที่ไม่ทำแท้งแต่ให้คำแนะส่งต่อได้ และกลุ่มที่ทำแท้งได้ พร้อมกับยังกังวลหากมีการเอาผิดปมไม่ส่งต่อผู้ป่วย หรือหญิงท้องที่ประสงค์จะทำแท้ง อาจสร้างความวุ่นวายในกลุ่มแพทย์ได้

ขณะที่กลุ่มทำทาง ซึ่งทำงานให้ความช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อมมาตลอด มองว่า หากเปรียบเทียบกับที่ผ่านมา หรือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว (2564) กฎหมายได้ปลดล็อกให้หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ภาคปฏิบัติก็ยังพบว่าเข้าไม่ถึงบริการ โดยมีหญิงตั้งครรภ์ถูกปฏิเสธการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ถึง 180 คน

เพราะไม่มีสถานบริการรองรับ ทั้งการขอคำปรึกษา และยุติการตั้งครรภ์, ทัศนคติของแพทย์ที่กังวลเรื่องศีลธรรมมากกว่าเหตุผลของหญิงท้องไม่พร้อมที่มีทั้งมิติสังคม และเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง รวมทั้งค่าบริการ จึงเชื่อว่ากฎหมายล่าสุด แม้ทำให้เกิดความชัดเจนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์และเจ้าหน้าที่ให้บริการ แต่ภาคปฏิบัติจะยังเกิดปัญหาในลักษณะเดิม จนทำให้ปัญหาการทำแท้งเถื่อนไม่หมดไปในเร็ววันนี้

ทีมข่าวของเราสอบถามกับผู้ที่มีประสบการณ์ตรงกับการท้องไม่พร้อม จนต้องตัดสินใจทำแท้ง เธอเล่าให้ฟังว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีการเปิดช่องให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อมที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ แต่ทางปฏิบัติการเข้าไปใช้บริการยังเกิดปัญหา เพราะไม่มีสถานที่รองรับ และต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 3,500-6,000 บาท

ความจริงกว่าที่ประเทศไทยจะมาถึงจุดที่ให้ทำแท้งอย่างถูกกฎหมายได้ ก็ใช้เวลาในการต่อสู้กับความเห็นของสังคมที่แตกเป็น 2 ฝ่าย อยู่นานหลายปี กระทั่งสภาฯ ทำคลอด พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้ในปี 2559 จากนั้นก็ทยอยออกกฎหมายลูกจนครบถ้วน นำไปสู่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 26 กันยายน 2565

นอกจากนี้ ศูนย์สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (Center for Reproductive Rights) รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิในการทำแท้งตามกฎหมายของประเทศทั่วโลก 202 ประเทศ แต่เราจะดูเฉพาะลักษณะแห่งสิทธิที่เด่น ๆ อาทิ กรณีกฎหมายอนุญาตให้ร้องขอทำแท้งได้ ภายใต้ข้อกำหนดอายุครรภ์มีอยู่ 67 ประเทศ ที่อนุญาตให้ทำได้ ส่วนใหญ่อายุครรภ์ที่กำหนด คือ ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เช่น ในประเทศคาซัคสถาน หรือในประเทศอิตาลี ก็กำหนดอายุครรภ์ไว้ 90 วัน, ในประเทศสเปน และเยอรมนี กำหนดอายุครรภ์ไว้ 14 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองที่ว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ก็ยังมีความเห็นจาก พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี บอกว่า ความจริงแล้วควรจะคุมกำหนัดให้ได้ก่อน จะได้ไม่ต้องมาคุมกำเนิด หมายความว่า ให้ควบคุม ยับยั้งชั่งใจ ความใคร่ ความอยาก ในตัณหาราคะ แทนที่จะต้องมาทำแท้งให้เด็กในท้องต้องตาย ก็ทำแท้งความอยากความใคร่ให้ได้ก่อนจะดีกว่าหรือไม่ ส่วนในมุมมอง พระพยอม ท่านบอกว่าไม่ได้ต่อต้าน แต่ก็ไม่ได้ยอมรับ ขอเป็นผู้เฝ้ามองความเป็นไป เพราะก็เข้าใจบริบทสังคมในปัจจุบัน ก็ว่ากันไปใครคิดได้ก็คิด ใครคิดไม่ได้ก็ถือว่าเป็นกรรมของสัตว์ที่โปรดไม่ขึ้น

เรื่องการทำแท้งกับจริยธรรมในสังคมไทย จึงยังดูเหมือนเป็นเส้นขนาน ซึ่งสุดท้ายก็หาจุดลงตัวผ่านการกำหนดไว้ในกฎหมายอาญามาตรา 305 ที่กำหนดให้หญิงที่มีความจำเป็นทั้งจากปัญหาสุขภาพกาย และจิตใจ ความเสี่ยงต่อทารก หญิงที่มีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ สามารถทำแท้งได้ นอกเหนือไปจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เพิ่มเติมให้ หญิงอายุครรภ์เกิน 12 - ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark