ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : กำไรธุรกิจไฟฟ้า ภาระ กฟผ. - ประชาชน ?

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ยังอยู่ที่ซีรีย์ข่าว เรื่องค่าไฟฟ้า ซึ่งเมื่อวานนี้ได้นำเสนอให้เห็นถึงต้นทุนด้านไฟฟ้าไปแล้ว กับคำถามคนไทยจ่ายแพงเกินไปหรือไม่ มีหนทางใดที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้หรือเปล่า วันนี้เราจะมาชำแแหละกันต่อ ถึงผลกำไรของธุรกิจโรงไฟฟ้า ภาระของ กฟผ. และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน เป็นอย่างไร ติดตามกับ คุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีสัดส่วนการผลิตจากการไฟฟ้าส่วนผลิตน้อยกว่าเอกชน โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปีนี้ กฟผ. ผลิตไฟฟ้า เพียงแค่ 32% เท่านั้น ที่เหลือแบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ 31% เป็นการผลิตจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ หรือ IPP 18% มาจากผู้ผลิตไฟรายเล็ก หรือ SPP 11% จากการนำเข้าและแลกเปลี่ยน และ 8% มาจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ VSPP

มีคำถามว่า สัดส่วนการผลิตที่เปลี่ยนไปมีผลอย่างไรต่อค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน เรื่องนี้มีคำอธิบายจากผู้ที่เกาะติดปัญหาค่าไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องว่า มีผลอย่างมาก เพราะนอกจากเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับ กฟผ. ในเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าแบบที่เอกชนไม่มีทางขาดทุนแล้ว ประชาชนยังต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นตามไปด้วย เพราะมีการสำรองไฟฟ้าเกินความจำเป็น

สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าในไทยเจ้าใหญ่ 3 อันดับแรก คือ เครือบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) รวมกำลังผลิต 8,383.82 เมกะวัตต์

โดยธุรกิจไฟฟ้าในเครือนี้ มีการแจ้งผลกำไรสุทธิ ปี 2564 ไว้ที่ 8,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 96.8% กำไรส่วนใหญ่มาจากยอดขายของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ

ขณะที่ บิ๊กบอส สารัชถ์ รัตนาวะดี เจ้าของฉายาเจ้าพ่อพลังงาน ผงาดขึ้นเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในไทย แซงหน้า เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่หล่นไปอยู่อันดับ 3 จากการจัดอันดับมหาเศรษฐีแบบเรียลไทม์ของ ฟอร์บส์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา

ส่วนบริษัทผลิตไฟฟ้าอันดับสอง คือ เครือบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 3,841 เมกะวัตต์แจ้งผลกำไรสุทธิในปี 2564 ไว้ที่ 7,772 ล้านบาท โตขึ้น 23.6%

ส่วนอันดับ 3 เป็นของเครือบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) รวมกำลังผลิต 3,473 เมกะวัตต์ แจ้งผลกำไรสุทธิ ในปี 2564 อยู่ที่ 7,319 ล้านบาท ลดลง 3%

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีคำชี้แจงจากผู้บริหาร กฟผ. ยืนยัน ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนรายใด แต่การซื้อไฟฟ้าเป็นไปตามนโยบายภาครัฐ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. กู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ เอฟที ประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ กลุ่มที่ติดตามเรื่องพลังงานและค่าไฟฟ้า มองว่า เป็นผลพวงจากโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าที่บิดเบี้ยว ทำให้สุดท้ายต้องกลับมาล้วงภาษีประชาชนออกไป จนเป็นสาเหตุที่มีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าไม่ถึง 51% ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็รับไว้พิจารณาแล้ว เราจะชำแหละเรื่องนี้กันต่อในวันพรุ่งนี้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark