ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1%

เช้านี้ที่หมอชิต - คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการยังเห็นว่าอาจเป็นตัวเลขที่ไม่เพียงพอ เสี่ยงที่เงินจะไหลออกนอกประเทศ กระทบค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอีก

ท่านผู้ชมอาจคิดว่าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้วจะมาเกี่ยวกับปากท้องชาวบ้านอย่างเรา ๆ ยังไง อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ดอกเบี้ยนโยบายนี้ จะเป็นสัญญาณให้ธนาคารต่าง ๆ ต้องปรับดอกเบี้ยตามไปด้วย ถ้าเพิ่มไปอีก 0.25% ก็จะเพิ่มจากเดิม 0.75 เป็น 1%

ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาที่จะกระทบกับคนไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นราชาเงินผ่อนกันแบบเต็ม ๆ ถ้าเรามีภาระผ่อนบ้านอยู่ จากเดิมสมมติว่าเราเคยผ่อนอยู่ 5,000 บาท ก็จะมีภาระผ่อนต่อเดือนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10% เท่ากับต้องผ่อนเพิ่มเป็น 5,500 บาท

แต่อย่าเพิ่งตกอกตกใจไป เพราะการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็จะไม่มีการปรับทันทีตามดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. แต่จะค่อย ๆ ปรับ และส่วนใหญ่ก็จะไม่ปรับสูงเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ แต่ละสัญญาก็ยังมีเงื่อนไข เช่น ตอนที่เราผ่อนบ้าน อาจได้เงื่อนไขดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี หรือ 5 ปี ถ้าเรายังอยู่ในเงื่อนไขนี้ ภาระค่าผ่อนบ้านก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ตรงนี้ในแง่ของประชาชน

ส่วนนักธุรกิจ ผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่กู้เงินกับธนาคาร ก็แน่นอนว่าต้องทำใจ จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงส่วนนี้ที่ทำให้ กนง. ยังไม่กล้าปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าร้อยละ 0.25 เพราะเกรงว่าเศรษฐกิจที่กำลังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจะได้รับผลกระทบ จึงมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยในปีนี้มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายแล้ว 2 ครั้ง

แต่ในมุมมองของนักวิชาการทีดีอาร์ไอ ยังเห็นว่า จะมองแค่เศรษฐกิจภายในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งปัจจัยที่กระทบกับเรื่องการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยในประเทศไทยที่สุด ก็เห็นจะเป็นแรงกดดันจากนโยบายดอกเบี้ยสูงของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ซึ่งมีการปรับต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ทำให้ระดับดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 3.25% และมีแนวโน้มว่าจนถึงสิ้นปี อัตราดอกเบี้ยของ Fed อาจทะยานไปอยู่ที่ 4.75% ซึ่งนั่นจะทำให้เงินในประเทศไหลออกไปนอกประเทศ เพราะให้ดอกเบี้ยที่จูงใจมากกว่า สุดท้ายก็จะทำให้ค่าเงินบาทไทยที่อ่อนค่าอยู่แล้ว ไหลลงไปอีก

จากข้อมูลที่เราไล่เรียงให้เห็น ก็อาจเรียกได้ว่า ไม่มีผิดหรือถูกเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะตัดสินใจทางใดทางหนึ่งก็มีทั้งผลลบ และบวก จึงถือเป็นความท้าทายของ กนง. อยู่เหมือนกันในการตัดสินใจเรื่องนี้ ซึ่ง นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ก็มีการพูดถึงการรองรับความเสี่ยงกับปัญหาเงินไหลออกนอกประเทศ และค่าเงินบาทอ่อนตัวไว้ด้วยว่า จะมีการติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark