ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ศาล รธน.รับชี้ขาด กฟผ.ผลิตไฟฟ้าไม่ถึง 51% ขัด รธน. ?

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 ยังเกาะติดเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า ซึ่งล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญ รับวินิจฉัย ประเด็น กฟผ. ผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 51% ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผลของเรื่องนี้ จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยหรือไม่อย่างไร ติดตามกับคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร

อย่างที่เราได้นำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า ในปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าราว 1 ใน 3 เท่านั้น นอกนั้นรับซื้อจากเอกชน จนเกิดข้อกังขาว่า แม้ไม่มีการแปรรูป กฟผ. แต่ในทางปฏิบัติ กฟผ. ถูกแปรรูปไปแล้ว โดยให้เอกชนมาผลิตแทน ล้วงรายได้จาก กฟผ. ขณะที่ประชาชนจ่ายแพงขึ้น จากนโยบายด้านพลังงานที่เอื้อต่อเอกชนหรือไม่

คำถามนี้ นำไปสู่การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ. 2559-2563) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP พ.ศ. 2561-2580 ที่ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ลดลงต่ำกว่า 51% เหลือแค่ 32% ในปัจจุบัน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสอง หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องไว้วินิจฉัยแล้ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อม 7 ผู้เกี่ยวข้อง ชี้แจงปมแผนยุทธศาสตร์ผลิตไฟฟ้า ทำสัดส่วนการผลิตของรัฐลดต่ำกว่าร้อยละ 51 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ

โดยศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 45 วรรคสอง ซึ่งคาดว่าจะทราบผลคำชี้ขาดได้ ภายในเดือนมกราคมปีหน้า

ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP ปี 2561-2580 ว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เมื่อส่งเรื่องไปยัง ครม. พิจารณา ก็ใช้เวลานานถึงสามปี กว่าจะได้ข้อยุติ ผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ปีนี้ เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานดำเนินการตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผน PDP ฉบับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ามีปัญหา เดินหน้าส่งเสริมเอกชนผลิตไฟฟ้า ลดสัดส่วนการผลิตของ กฟผ. ลง โดยภายในสามปี นับจากวันที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัย สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงไปอีก 5% จาก 37% เหลือแค่ 32% เท่านั้น

การเดินหน้าต่อของรัฐบาลโดยไม่ฟังคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ทำให้เกิดคำถามว่าองค์กรอิสระหน่วยงานนี้ กลายเป็นแค่เสือกระดาษหรือไม่

จากนี้จึงต้องรอดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งก็เป็นความหวังของภาคประชาชน ที่อยากเห็นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฟผ. ต้องผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% เพื่อนำไปสู่การรื้อโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องชวนให้สังคมร่วมคิดด้วยว่า ถึงเวลาต้องทบทวน หรือปรับปรุงแผน PDP หรือยัง ควรมีแผน PDP ภาคประชาชนคู่ขนานไปกับภาครัฐหรือไม่

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark