ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : 8 ปี นายกฯ จบ (ซะ) ที่ไหน?

เช้านี้ที่หมอชิต - ตีตรงจุด วันนี้ ชวนท่านผู้ชมร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง หลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ปมวาระ 8 ปี นายกรัฐมนตรี ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย 15.00 น. วันนี้ ซึ่งไม่ว่าคำชี้ขาดจะออกทางใด ย่อมส่งผลโดยตรงกับการเมือง เป็นอย่างไร ไปตีตรงจุดกัน

หลายคนมองว่าเรื่องนี้น่าจะจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย แต่มีคำถามต่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะจบเรื่องนี้ยังไง เพราะตอนนี้ก็มีการสะท้อนความเห็นกันหนักเลยว่า ที่คิดว่าจะชัดเจน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องพ้นตำแหน่งทันที หรืออยู่ได้อีก 2 ปี หรืออยู่ต่อยาว ๆ อีก 4 ปี อาจไม่ใช่ 3 แนวทางนี้ซะแล้ว

เพราะตอนนี้มีแนวทางที่ 4 ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจขัดใจนิดหน่อย เนื่องจากจะไม่มีความชัดเจนว่า พลเอก ประยุทธ์ จะอยู่ในตำแหน่งได้อีกกี่ปี แต่จะมีการชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญเพียงว่า วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งหรือยัง ตามคำร้องของฝ่ายค้านเท่านั้น

เราไปฟังคำอธิบายเรื่องนี้จาก ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

เรื่องนี้ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะจบแบบที่ อาจารย์สติธร ฟันธงไว้หรือเปล่า ต้องรอฟัง 15.00 น. วันนี้ แต่ที่แน่ ๆ มีคำถามขึ้นมาทันทีว่า แล้วฝ่ายค้านเขียนคำร้องยังไง ทำไมไม่เขียนให้ชัดว่า วาระดำรงตำแหน่งของ พลเอก ประยุทธ์ นอกจากพ้น-ไม่พ้นตำแหน่งแล้ว จะนับเวลากันยังไง จะได้ชัดเจน ไม่ต้องกลับมายื่นตีความซ้ำอีกกรณีที่ พลเอก ประยุทธ์ มีโอกาสได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเรื่องนี้ก็มีคำอธิบายจาก คุณประเสริฐ ทรัพย์รวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ถึงสาเหตุที่คำร้องไม่มีการถามเกี่ยวกับการนับวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี ว่าต้องเริ่มนับเมื่อใด 

ฟังดูแล้วก็เหมือนกับว่าฝ่ายค้านรู้จุดอ่อนนี้อยู่แล้ว แต่ถามได้แค่นี้ในทางกฎหมาย จึงยังหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมให้ชัดเจน

เรามาดูกันต่อว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ชี้ขาดว่าจะต้องนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกันที่ช่วงเวลาไหน งานนี้ก็ต้องบอกว่า ไม่จบสิ เพราะว่าถ้า พลเอก ประยุทธ์ มีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ปัญหานี้ก็ยังคาราคาซัง

จะนับวาระหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ทันที คือ 6 เมษายน 2560 หรือว่าไปนับหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งปี 2562 ซึ่งจะมีระยะเวลาดำรงตำแหน่งที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็จะมีเวลาดำรงตำแหน่งต่ออีก 2 ปีเศษ แต่ถ้านับตั้งแต่ปี 2562 ก็อยู่ยาว ๆ ไปอีก 1 วาระ ซึ่งนอกจากจะทำให้ต้องมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้งแล้ว ความไม่แน่นอนนี้ยังมีผลต่อสนามเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย ซึ่งกูรูการเมืองมองว่าหาก พลเอก ประยุทธ์ ยังเดินบนถนนการเมืองต่อ ก็คงไม่ใช่แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองเพียงคนเดียวเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาซะแล้ว

นั่นก็เป็นมุมมองของ ดร.สติธร ซึ่งฟันธงไปแล้วว่า ยังไง พลเอก ประยุทธ์ ก็ได้ไปต่อ แต่มีอีกคนที่ฟันธงเหมือนกัน แต่ตรงข้ามกับ ดร.สติธร เลย ก็คือ อาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร เมื่อวานอุตส่าห์ดั้นด้นไปเลย ไปเข้าห้องสมุดรัฐสภา ค้นข้อมูลเกี่ยวกับวาระการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 ที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ว่า อาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ุ เคยให้ความเห็นไว้ว่า การนับวาระนายกฯ ให้นับตั้งแต่ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งก็มีการออกมาชี้แจงแล้วว่า เอามาใช้อ้างอิงไม่ได้ เพราะบันทึกนั้นไม่ได้รับการรับรอง เจ้าหน้าที่รวบรัดบันทึกทำให้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

แต่ อาจารย์สมชัย ไม่สน ยังไปค้นในห้องสมุดรัฐสภา และก็เจอข้อมูลเดิมว่า อาจารย์มีชัย เห็นว่าให้นับวาระนายกรัฐมนตรีก่อนที่รัฐธรรมนูญจะบังคับใช้ อาจารย์ก็เลยจบโพสต์ในเฟซบุ๊กไว้ด้วยคำสั้น ๆ ว่า "มันจบแล้วครับนาย"

ถ้าจบจริงตามที่อาจารย์สมชัยว่า การเคลื่อนไหวบนท้องถนนก็คงไม่เกิด แต่ถ้าไม่จบ พลเอก ประยุทธ์ ได้ไปต่อ ก็มีอย่างน้อย 3 กลุ่ม แสดงความจำนงค์เคลื่อนไหวแน่ ทั้ง กลุ่มราษฎร คณะหลอมรวมประชาชน และ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ประกาศถ้า พลเอก ประยุทธ์ ได้ไปต่อ ประชาชนเตรียมลงถนน ซึ่งในส่วนของคณะหลอมรวมประชาชน นัดชุมนุม 17.00 น. วันนี้ ที่แยกราชประสงค์

ส่วนคนที่จะโดนชี้ชะตาครั้งสำคัญในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่าง พลเอก ประยุทธ์ วันนี้ก็ชัดเจนว่าจะไม่เดินทางไปฟังคำวินิจฉัย แต่จะส่งทีมกฎหมายไปรับฟังแทน โดยมีการปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน ในการประชุมสภากลาโหม วันนั้นนักข่าวก็ได้เห็นแต่แผ่นหลังของท่าน

ขณะที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จัดเตรียมระบบสำหรับถ่ายทอดสดการอ่านคำวินิจฉัยครั้งสำคัญนี้ ผ่านช่องทางยูทูปของศาลรัฐธรรมนูญ และถ่ายทอดภาพ-เสียงไปยังบริเวณลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 หน้าห้องรับรองสื่อมวลชน

ก็ต้องติดตามกันว่า 15.00 น. วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะชี้ขาดปม 8 ปี วาระนายกรัฐมนตรีอย่างไร หากวินิจฉัยว่าไม่พ้นตำแหน่ง ได้ไปต่อ พลเอก ประยุทธ์ ก็จะกลับมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้ หลังต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปเป็นเวลา 38 วัน ส่วนคนที่ต้องโบกมือลาหน้าที่นายกรัฐมนตรี ก็หนีไม่พ้น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่จะหลุดจากรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย หลังทำหน้าที่นี้มานาน 38 วัน เช่นเดียวกัน

ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญออกประกาศกำหนดให้พื้นที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ซึ่งเป็นอาณาบริเวณในการทำหน้าที่วินิจฉัยปม 8 ปีนายกรัฐมนตรี เป็นพื้นที่ควบคุมทั้งคน และยานพาหนะ อนุญาตเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าในพื้นที่ หลังฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าอาจมีความเสี่ยงเกิดความไม่สงบ โดยมีผลตั้งแต่เมื่อวาน 19.00 น. ไปจนถึงวันที่ 3 ตุลาคม เวลา 06.00 น.

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark