ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

เตรียมอำลาแต่ไม่อาลัย โควิด-19

เช้านี้ที่หมอชิต - นับถอยหลังกันแล้วสำหรับโรคโควิด-19 เพราะวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะเหลือเป็นเพียง "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" กันแล้ว จากวันเริ่มต้นถึงวันนี้ก็ผ่านมากว่า 3 ปี แล้ว คนไทยต้องเจ็บป่วย-ทุกข์ทรมานจากการดิ้นรนให้รอดพ้นเชื้อโรคร้ายนี้กันมากน้อยเพียงใด และเมื่อโรคนี้ไม่มีทางหายไป จะอยู่กับโรคอย่างไรให้ปลอดภัย เราจะมาไล่เรียงเรื่องทั้งหมดนี้ เพื่อเตือนสติกันว่าเราผ่านอะไรกันมาบ้าง และต่อไปต้องระมัดระวังอย่างไร

สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่เข้ามาในประเทศไทย เริ่มต้นโรคแบบส่งท้ายปี 2562 ยาวเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ด้วยภาวะเด่นของโรค คือ ติดได้ไม่เลือกหน้าว่าคุณจะเป็นใคร หากการ์ดตก ภูมิคุ้มกันร่างกายสู้เชื้อโรคไม่ไหว ก็ต้องล้มหมอนนอนเสื่อรักษาตัว

ยิ่งช่วงพีก ๆ มีคนป่วยโควิด-19 จำนวนมาก บางคนนอนรอเตียงที่บ้าน สุดท้ายกลายเป็นรอตายก็เกิดขึ้นมาแล้ว บางคนหายป่วยแต่ก็ต้องประสบกับภาวะลองโควิด ทุกข์ทรมาน เพราะสุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ก็มีให้เห็นเช่นกัน

แต่ที่ติดเชื้อโควิดเยอะ ไม่ใช่ไม่ป้องกัน เพราะถ้ายังจำกันได้ ประชาชนจัดเต็มกันจริง ๆ จนทำให้เกิดเหตุหดหู่ใจ โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ทั้งวัคซีนที่ต้องยื้อแย่งจนทะเลาะกัน หรือการตรวจหาเชื้อโรคฟรี ก็ต้องนอนรอคิวกันข้ามวันข้ามคืน โดยโรคโควิด-19 ถึงขั้นถูกยกระดับเป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ลำดับที่ 14 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563
 
จนกระทั่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติ ถอดโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย ปรับเป็น "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" มีผลวันพรุ่งนี้ (1 ต.ค.)

เพราะสถานการณ์โรคเปลี่ยนไปในทิศทางดีขึ้น มีผู้ติดเชื้อรายวันเหลือหลักร้อยคน เสียชีวิตหลักสิบต่อวัน โดยตั้งแต่เกิดโควิด-19 ข้อมูลถึงเมื่อวานนี้ (29 ก.ย.) พบคนไทยป่วยสะสมแล้ว 4,680,470 คน เสียชีวิต 32,755 คน

ก้าวใหม่ในการใช้ชีวิตหลังการระบาดใหญ่ สิ่งที่สำคัญ คือ เมื่อป่วยแล้วต้องปฏิบัติตัวอย่างไร กรมการแพทย์ แบ่งผู้ป่วยไว้ 4 กลุ่ม โดยการแยกกักผู้ติดเชื้ออาการน้อย หรือไม่มีอาการ แนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน DMHT คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ อย่างเคร่งครัด 5 วัน ส่วนผู้ที่มีอาการไปตรวจรักษาได้ตามสิทธิ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

และวันนี้ (30 ก.ย.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จะออกเกณฑ์อาการผู้ป่วยโควิดสีแดง เข้าข่ายวิกฤตฉุกเฉินซึ่งสามารถใช้สิทธิยูเซปพลัส รักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ยังมีคำแนะนำให้ป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark