ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตีตรงจุด : จับตาหนี้นอกระบบ หลัง ธปท. ส่งสัญญาณคุมเข้ม

เช้านี้ที่หมอชิต - ตีตรงจุด วันนี้ ปักหมุดที่ทุกข์ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง อาจต้องพึ่งพาการกู้หนี้ยืมสิน ล่าสุดการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต กำลังจะถูกแบงก์ชาติเข้ามาคุมเข้ม จากปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งไปถึง 88% ของจีดีพี โดยเตรียมจะออกมาตรการในไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้การกู้เงินยากขึ้น ผลกระทบที่ตามมา ก็มีความเป็นห่วงว่า จะทำให้ชาวบ้านหันไปพึ่งหนี้นอกระบบมากขึ้นหรือไม่ ไปตีตรงจุดเรื่องนี้กัน

ก่อนอื่นเราไปดูเหตุผลที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องมีการออกหลักเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้ากันก่อน ซึ่งก็เป็นเพราะ พบว่า ปัญหานี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ ยังสูงถึงร้อยละ 88 ของจีดีพี ทั้งที่ความจริงไม่ควรเกินร้อยละ 80 ของจีดีพี 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพด้านสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ไส้ในของหนี้ครัวเรือน 88% ของจีดีพี นั้นแบ่งเป็น หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล อาทิ หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ มากถึง 35% ของจีดีพี ซึ่งไม่ใช่สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต แม้จะไม่ใช่หนี้เสียทั้งหมด แต่ แบงก์ชาติ ก็ไม่ต้องการให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น

โดย แบงก์ชาติ เตรียมออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือกับสถาบันการเงิน และนอนแบงก์ เพื่อไม่ให้ออกโพรโมชั่น หรือแคมเปญที่จูงใจ เพื่อกระตุกพฤติกรรมการเงินไม่ให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่ม เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินจะให้ความร่วมมือ เพราะเป็นสินเชื่อที่ขาดคุณภาพ แม้จะไม่เป็น หนี้เสีย ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ทั้ง 2 ฝ่าย

จากข้อมูลของ แบงก์ชาติ พบภาพรวมตลาดบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทย ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีจำนวนบัตรเครดิต 25 ล้านใบ มูลค่าการใช้จ่าย 877,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดคงค้าง อยู่ที่ 450,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ส่วนสินเชื่อบุคคล มีจำนวนบัญชี 15.4 ล้านบัญชี และยอดคงค้าง 563,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าในปีหน้ายอดการใช้บัตรเครดิต จะโตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10% เลยทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 25 - 35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง

ทีนี้เราไปดูความเป็นห่วงกรณีที่แบงก์ชาติกำลังจะออกกฎคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น ว่า อาจทำให้เกิดแรงเหวี่ยงสำหรับประชาชนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน หันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบมากขึ้นกันบ้าง

โดยในส่วนของ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ดูแลเรื่องการปราบปรามหนี้นอกระบบ ก็ยอมรับ มีความกังวลต่อมาตรการคุมเข้มของแบงก์ชาติ ว่าอาจทำให้ประชาชนหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบมากขึ้น จึงเห็นว่าการจะออกมาตรการใดก็ตาม ต้องเผื่อช่องให้ประชาชนได้หายใจด้วย

ทั้งนี้จากสถิติการปราบปรามหนี้นอกระบบ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ปีที่แล้ว - 30 เมษายนปีนี้ มีการแจ้งการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกับเงินกู้นอกระบบกว่า 1,361 เรื่อง ในจำนวนนี้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว 1,093 เรื่อง คิดเป็น 80% ยังเหลือที่ต้องเร่งสะสางอีก 268 เรื่อง

สำหรับการกระทำความผิดที่ได้รับแจ้งมากที่สุด 3 อันดับ คือ การปล่อยกู้ออนไลน์, การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา, และการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทําความผิดต่อไป

ทางตำรวจยังแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงการถูกทวงหนี้นอกระบบด้วยรูปแบบต่าง ๆ และแนวทางการป้องกันไว้ 3 ข้อ คือ 1.หากถูกแก๊งทวงหนี้ แอบอ้าง ข่มขู่ ควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบหรือให้ความช่วยเหลือ 2.บันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อใช้ในการดำเนินคดีภายหลัง และ 3.หากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้

นอกจากคำเตือนจากตำรวจแล้ว มาดูที่ภาคการช่วยเหลือลูกหนี้บ้างโดยเฉพาะในกลุ่มที่กำลังจะถูกฟ้อง และหลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว ซึ่ง กระทรวงยุติธรรม มีการจัด "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน" มาแล้ว 78 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมปีที่แล้ว - 30 กันยายนที่ผ่านมา

พบว่า มีลูกหนี้ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จรวม 94,328 คน คิดเป็นยอดหนี้กว่า 23,529 ล้านบาท สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้ถึง 7,024 ล้านบาท จึงจะยังขยายโครงการนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากภาระหนี้ได้ง่ายขึ้นต่อไป

สำหรับช่องทางให้ไกล่เกลี่ยหนี้ได้ โดยสามารถยื่นความประสงค์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีได้ที่เว็บไซต์ www.led.go.th หรือ สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ แต่ทางที่ดียุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ การวางแผนใช้จ่ายเงินก็อาจช่วยทำให้ไม่พลาดตกอยู่ในวังวนหนี้ได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark