ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

หมอมนูญ โพสต์เตือนประชาชน ระวังโรคฮิสโตพลาสโมซิส

เช้านี้ที่หมอชิต - ถือว่าเป็นเรื่องที่วงการแพทย์ให้ความสนใจ หลัง นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊กว่า พบนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่ไปดูค้างคาวในโพรงต้นไม้ ป่วยด้วยโรคฮิสโตพลาสโมซิส จากมูลค้างคาว ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย

นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ โพสต์รูปฟิล์มเอ็กซเรย์ปอด ที่เต็มไปด้วยก้อนเม็ดเล็กขาว ๆ กระจายทั่วปอดของผู้ป่วย ที่เป็นคณะเดินทางศึกษาธรรมชาติ ที่เข้าไปในโพรงต้นไม้ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังเดินทาง 2 - 3 สัปดาห์ พบว่า 7 ใน 10 คน ติดเชื้อแล้ว โดยอาการ คือ ไอ อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย

โดยคนที่มีก้อนในปอดพิสูจน์แล้วว่าเป็น โรคฮิสโตพลาสโมซิส ด้วยการตัดชิ้นเนื้อจากปอด พบเชื้อรา Histoplasma capsulatum เจริญเติบโตแบ่งตัวในปอด ซึ่งคาดว่าผู้ป่วยจะหายใจสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) ที่ลอยขึ้นมาในอากาศจากมูลค้างคาวที่ตกลงบนพื้นดิน เข้าไปในปอด

ซึ่งโพรงต้นไม้นี้ชื่อ "ช้าม่วง" เป็นต้นไม้กลุ่มวงศ์ยาง อายุกว่า 100 ปี สูงกว่า 40 เมตร โพรงต้นไม้นี้เกิดตามธรรมชาติแคบ เข้าได้ทีละคน มีพื้นที่ในโพรงให้คนเข้าไปได้พร้อมกัน 6 - 7 คน เป็นที่พักอาศัยของ "ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก" ซึ่งต้นไม้ต้นนี้อยู่ในป่าสมบูรณ์ บริเวณคลองวังหีบ หนานตากผ้า ตำบลนาหลวงเสน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช หากจะไปต้องให้คนพื้นถิ่นพาไป ซึ่งได้แนะนำให้ติดป้ายเตือนที่หน้าโพรงต้นไม้แล้ว

ส่วนใครที่เคยเข้าไปในโพรงต้นไม้ โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ควรไปหาแพทย์ ซึ่งคนที่อายุน้อยสุขภาพแข็งแรง ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ สามารถหายเองได้ ไม่ต้องรักษา คนที่อายุมากมีโรคประจำตัว ต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา

ด้าน นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า ตัวเองเดินทางมาที่ต้นไม้ต้นเรื่อง และจะลงพื้นที่วันนี้ (5 ต.ค.) เพื่อเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวไปตรวจ พร้อมระบุว่า ค้างคาวเป็นสัตว์ที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคนานาชนิด ทั้งไวรัส และเชื้อรา และโรคนี้มีในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยน่าจะเป็นครั้งแรก โดยอาจมีปัจจัยที่ทำให้เชื้อราเติบโต จากสิ่งแวดล้อมที่อับชื้น อับแสง อากาศไม่ถ่ายเท เพราะต้นไม้ที่เกิดเหตุ ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตเต็มที่ เนื่องจากตามถ้ำก็มีค้างคาว แต่เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้อทำให้เชื้อราไม่สามาถเติบโตได้ และเชื้อโรคประเภทนี้ นอกจากค้างคาว ยังพบในสัตว์ตระกูลหนู และนกด้วย แต่สิ่งที่กังวลคือการแพร่เชื้อให้สัตว์อื่นจนกลายเป็นสัตว์อมโรคเช่นเดียวกับค้างคาว

สำหรับมาตรการที่อยากแนะนำให้นักท่องเที่ยวที่ชอบท่องเที่ยวตามธรรมชาติ คือการสวมหมวกคลุมผม สวมหน้ากากอนามัย และสวมถุงมือขณะเข้าไปในถ้ำ รวมทั้งไม่นำอาหารเข้าไปรับประทาน เพราะสปอร์เชื้อรา อาจลอยอยู่ตามอากาศ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark