ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

กรมอุทยานแห่งชาติฯ เตรียมเพาะเชื้อจากมูลค้างคาว หลังพบคนติดเชื้อโรคฮิสโตพลาสโมซิส

เช้านี้ที่หมอชิต - หลังนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคฮิสโตพลาสโมซิส เชื้อราจากมูลค้างคาว ล่าสุดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรวจสอบโพรงต้นไม้ใหญ่ เก็บตัวอย่างไปตรวจสอบและเพาะเชื้อ เพื่อหาแนวทางป้องกันแล้ว

เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่พร้อมสวมชุดป้องกัน หลังทราบว่า มีคณะศึกษาธรรมชาติ ในพื้นที่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิส จากการหายใจนำสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) ในโพรงต้นช้าม่วง ขนาดใหญ่ อายุกว่าร้อยปีเข้าไป

เจ้าหน้าที่เข้าไป swap ผนังโพรง และเก็บตัวอย่างมูลค้างคาว ดินที่อยู่ในโพรงไม้ และสารคัดหลั่งจากค้างคาวไปตรวจสอบหาเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่านี่เป็นต้นไม้ที่มีลักษณะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคนานาชนิด เพราะต้นไม้มีทางเข้า-ออกทางเดียว อากาศไม่ถ่ายเท แสงเข้าไม่ถึง และมีความชื้นตลอดเวลา 

อีกวิธีคือการจับค้างคาวไปตรวจเลือด หาไวรัสชนิดต่าง ๆ คัดแยกสายพันธ์ุ เพราะค้างคาว และสิ่งที่ยังหาคำตอบไม่ได้ คือเชื้อโรคประเภทนี้อยู่ในค้างคาวบางตัว และแม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน บางตัวก็มีเชื้อ บางตัวก็ไม่มีเชื้อ จึงต้องมีการเพาะเชื้อเพื่อศึกษาชนิดของเชื้อโรค

ทั้งนี้มีการติดป้ายห้ามเข้า ทำแนวเชือกกั้นห่างต้นไม้ 10 เมตร พร้อมทำแนวกั้นถาวร ก่อนจะปรับเปลี่ยนให้เป็นแหล่งเรียนรู้พิเศษ

ส่วนต้นไม้ที่มีลักษณะเดียวกับที่พบสปอร์เชื้อรา หรือพื้นที่ไหนที่มีความเสี่ยงอาจเจอต้นไม้ลักษณะนี้ เบื้องต้น ต้นช้าม่วงนี้ เป็นต้นแรกที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ พบว่า มีโพรงขนาดใหญ่จนคนเข้าไปได้ แต่สำหรับโพรงตามธรรมชาติที่มีขนาดเล็ก หากจะมีค้างคาวอยู่ก็ไม่แปลก

ที่สำคัญจะต้องไม่ทำให้ค้างคาวพวกนี้อพยพ หรือ ย้ายถิ่นเพราะอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อเป็นวงกว้าง และขอห้ามประชาชนสัมผัสหรือบริโภคค้างคาว เพราะค้างค้าวเป็นสัตว์อมโรค และมีเชื้อไวรัสหลายชนิด โดยเฉพาะโคโรนาไวรัส

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark