ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ส่องปมบิกดีล ทรู-ดีแทค กสทช.เข้าข่ายใช้อำนาจไม่ชอบหรือไม่

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ มีประเด็นดีลควบรวมกิจการ "ทรู-ดีแทค" ซึ่งมีการตั้งคำถาม ถึงอำนาจของ กสทช. ที่พยายามจะไม่เข้าไปจัดการเรื่องนี้ จนถูกมองว่า อาจเข้าข่ายใช้อำนาจไม่ชอบ และดีลใหญ่นี้ จะส่งผลอย่างไรกับผู้บริโภค ติดตามกับ คุณสุธาทิพย์ ผาสุข

อำนาจคณะกรรมการ กสทช. พิจารณาการควบรวมของผู้ประกอบการ 2 เจ้าใหญ่ ในกิจการโทรศัพท์มือถือ ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ กสทช. กับหลักนิติธรรม และเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ในการกำกับดูแลคลื่นความถี่สาธารณะ ไม่ใช่นิติ (เพื่อ) ทุน

มุมของนักกฎหมาย เห็นตรงกันว่า กสทช. เป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจทั้งการอนุญาต ควบคุมการควบรวมกิจการ แต่ปัญหาอยู่ที่การตีความของ กสทช. และการพยายามไม่ตัดสินใจ นำเข้ามาพิจารณาใน กสทช. ทั้งที่มีสิทธิ ซึ่งกรณีนี้อาจจะเข้าข่ายการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ

นอกจากประเด็นข้อกฎหมาย การใช้อำนาจ ของ กสทช. ที่ต้องทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และรักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชน ในวงเสวนายังพูดคุยถึงความกังวลการดำเนินการควบรวมกิจการของสองค่ายมือถือ ที่อาจจะนำไปสู่การผูกขาด ทำให้ประชาชนผู้บริโภคไม่มีทางเลือก หมดอำนาจการต่อรอง บีบให้ประชาชนอาจจะต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ที่แพงมากขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะเคยมีคำอธิบายถึงข้อดีของการควบรวม ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และต้นทุนต่ำลง ส่งผลให้แนวโน้มค่าบริการก็อาจจะถูกลงตามไปด้วย

ในวันที่ 12 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ กสทช. มีกำหนดวาระการประชุมตัดสินใจเรื่องการควบรวมกิจการโทรศัพท์มือถือ ทรู-ดีแทค ซึ่งทิศทางผลตัดสินและชี้ขาดดีลนี้จะเป็นอย่างไร ยังต้องจับตามอง เพราะทั้ง 2 บริษัทนี้ ต่างเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่อันดับ 2 และ 3 ของประเทศ หากการควบรวมเกิดขึ้นจริง ย่อมส่งผลต่อประชาชนผู้บริโภค ไม่มากก็น้อย เพราะการผูกขาด มักตามมาด้วยราคาที่แพงขึ้นเสมอ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark