ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ถึงวันนี้ เครื่องจักรกลหนักซ่อมพนังกั้นแม่น้ำชี ขาด จ.กาฬสินธุ์

เช้านี้ที่หมอชิต - วันนี้ (18 ต.ค.) สำนักงานชลประทาน เขต 6 จังหวัดขอนแก่น จะส่งเครื่องจักรกลหนักเข้าไปซ่อมแซมพนังดิน ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังถูกมวลน้ำกัดเซาะขาดเป็นแนวยาวมาตั้งแต่คืนวันอาทิตย์

ถึงวันนี้ เครื่องจักรกลหนักซ่อมพนังกั้นแม่น้ำชี ขาด จ.กาฬสินธุ์
พนังดินกั้นแม่น้ำชี บ้านสะดำศรี ตำบลลำชี อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ทรุดตัวจากการกัดเซาะของแม่น้ำชี ตอนนี้ ขาดเป็นแนวยาว กว่า 50 เมตรแล้ว และยังส่งเครื่องจักรกลหนักเข้าไปซ่อมแซมไม่ได้ เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว

เจ้าหน้าที่ ต้องระดมกำลังเข้าไปอพยพชาวบ้าน จาก 3 ตำบล รวมกว่า 1,000 คน ที่ยังตกค้างจากคืนวันอาทิตย์ออกมา และขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลฆ้องชัย ไปไว้บนชั้น 2 ของอาคาร ตลอดจนช่วยคัดแยกเครื่องอุปโภค-บริโภคจากประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อนำไปให้ชาวบ้านที่ขณะนี้กระจายไปอาศัยอยู่ตามบ้านญาติ

นายอดุลย์ ลือทองจันทร์ อาสาสมัครกู้ภัยกาฬสินธุ์ จุดฆ้องชัย ที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในคืนเกิดเหตุ เล่าว่า หลังได้รับแจ้งก็รีบนำอาสาสมัครฯ เข้าไปช่วยอพยพชาวบ้านและขนย้ายสัตว์เลี้ยง แต่พอไปถึงได้ไม่นาน น้ำก็ท่วมอย่างรวดเร็ว จนต้องช่วยขนย้ายทรัพย์สินขึ้นบ้านก่อน และรีบนำชาวบ้านออกมา

ช่วงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทาน เขต 6 จังหวัดขอนแก่น จะส่งเครื่องจักรกลหนัก เพื่อซ่อมแซมพนังดิน โดยมีแผนจะใช้กล่องหินวางเป็นแนวก่อน เพื่อลดความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำ และใช้เสาเข็มปักเสริมความแข็งแรง แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย

ขณะเดียวกัน ได้มีการแจ้งเตือนพื้นที่ตำบลธัญญา และตำบลเจ้าท่า อำเภอกมลาไสย เพื่อเตรียมรับมือมวลน้ำ ที่คาดว่าจะไหลมาจากอำเภอฆ้องชัย ในเร็ว ๆ นี้ โดยกำหนดจุดอพยพไว้ที่โรงเรียนธัญญาพัฒนวิทย์ จุดอพยพสัตว์เลี้ยง ที่สาธารณะ หมู่ 12 ตำบลธัญญา พร้อมย้ำให้ผู้นำชุมชนประชาสัมพันธ์ ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุทางน้ำ และเตือนภัยให้กับชาวบ้านในทันที หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

เขื่อนอุบลรัตน์ ปรับการระบายน้ำ ลดผลกระทบ จ.ขอนแก่น
เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น "เขื่อนอุบลรัตน์" จังหวัดขอนแก่น ที่ปัจจุบัน มีปริมาณกักเก็บ 3,157 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 129 ของความจุ มีน้ำไหลลงเขื่อนฯ วันละ 31 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อวานนี้ ได้ปรับแผนลดการระบายน้ำลงลุ่มน้ำพองที่จะไหลลงแม่น้ำชี จากวันละ 54 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือวันละ 52 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันแล้ว เพื่อลดความเชี่ยวกรากของแม่น้ำชี และหากไม่มีฝนลงมาเติมอีก จะทยอยปรับลดแบบขั้นบันได โดยวันที่ 19 ตุลาคม ระบายเหลือ 48 ล้านลูกบาศก์เมตร และวันที่ 20 ตุลาคม เหลือ 46 ล้านลูกบาศก์เมตร

ประเมินสถานการณ์น้ำ คลี่คลาย พ.ย.นี้
รองศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประเมินสถานการณ์น้ำท่วม พื้นที่ภาคกลาง และภาคอีสาน โพสต์เฟซบุ๊ก บอกว่า สถานการณ์น้ำเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังลดลงอย่างช้า ๆ น้ำในทุ่งกำลังไหลลงแม่น้ำ และสุดท้ายน้ำจะไหลมารวมกันอยู่ที่ปลายน้ำฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดปทุมธานี ถึงจังหวัดสมุทรปราการ และอีกฝั่งแม่น้ำท่าจีน ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ปริมาณน้ำฝนสะสมปีนี้ ในภาคกลางมากกว่า ปี 2554 ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ คาดว่า ระดับน้ำจะลดลงต่ำกว่าตลิ่งช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน แต่ระดับน้ำในทุ่งอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน หรือถึงกลางเดือนธันวาคม

ภาคอีสาน สถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ยังวิกฤต แม้ว่าปริมาณน้ำ ที่จังหวัดอุบลราชธานี จะเริ่มทรงตัว และมีแนวโน้มลดลง แต่จากการประเมินปริมาณฝน และพื้นที่น้ำท่วมในภาคอีสาน พบว่าปริมาณฝนสะสมในปีนี้ สูงมากกว่าปีน้ำท่วมล่าสุด ปี 2562 ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ จึงคาดว่าระดับน้ำจะเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งเร็วสุด คือ ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน นี้ หากไม่มีพายุพัดเข้ามาทำฝนตกซ้ำ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark