ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

มองต่างมุม ศรีสุวรรณ ถูกทำร้าย นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเห็นด้วยหรือไม่

ข่าวสังคม 19 ตุลาคม 2565 - เช้านี้ที่หมอชิต - ประเด็นการใช้ความรุนแรงจากกรณีนายศรีสุวรรณ จรรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ล่าสุดมีนักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างออกมา แสดงความไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะนักวิชาการ ที่มองว่า ประเทศไทยเป็นทาสความรุนแรง

มุมมองเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายที่เห็นด้วยอย่างเดียวแต่ ทีมข่าวขอความเห็นจากทั้ง 2 ฝ่าย

เริ่มที่ ร้อยเอก ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองสมัย กปปส. บอกว่าขอหยุดเคลื่อนไหว และตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน หลายคนจำได้ ผู้กองปูเค็ม เป็น 1 คน ที่ถูกใช้กำลังทำร้ายร่างกายบ่อยครั้งจากคนที่เห็นต่าง ที่มีทั้งเกี่ยวกับการเมืองและไม่เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งเขาก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เพราะประเทศไทยยังมีกฎหมายอยู่ควรให้กฎหมายเป็นตัวตัดสิน

เช่นเดียวกับนายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เคยเป็นประเด็นหน้าสื่อหลายครั้ง ก็บอกว่า นอกจากตัวเอง นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ฟอร์ดเส้นทางสีแดง และนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ต่างก็เคยถูกใช้ความรุนแรงจากผู้ที่เห็นต่าง และไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา

ส่วนประเด็นผู้ก่อเหตุเข้าไปก่อเหตุในสถานที่ราชการได้อย่างง่ายดายและไม่ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวหรือกักตัวไว้ ถูกมองต่างมุมเพราะนายเอกชัยบอกว่า สะท้อนให้เห็นว่าตำรวจหละหลวมในการป้องกันเหตุ เหมือนทุกครั้งที่เกิดความรุนแรงกับตัวเองในอดีต ส่วนร้อยเอกทรงกลด มองว่า การดูแลความปลอดภัยของตำรวจก็เพียงพอแล้ว แต่ที่อยากให้ดำเนินการคือกักตัวหรือพาคนที่ก่อเหตุไป สน.ท้องที่

ทีมข่าวสอบถามความคิดเห็น ไปยังศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ถ้าสังคมไหนที่ยังตกอยู่กับความชอบหรือไม่ชอบใคร แล้วสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงกับคนที่เราไม่ชอบจนรู้สึกสะใจ เท่ากับว่าทุกคนกลายเป็นเครื่องมือของความรุนแรงไปด้วย สังคมน่าจะชวนกันกลับมาคิดว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือน่าสนับสนุนหรือไม่

ส่วนประเด็นที่หลังผู้ก่อเหตุ ชกต่อยนายศรีสุวรรณ เสร็จแล้วได้มีการไลฟ์สด ปักหมุดเลขบัญชีและมีประชาชนโอนเงินให้จำนวนมากนั้น เกิดเป็นคำถามว่าเป็นการสนับสนุนผู้กระทำความผิดหรือไม่ เราสอบถามเรื่องนี้ไปยังสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ตอบในข้อกฎหมายว่า การโอนเงินหลังเกิดเหตุของประชาชนถือว่าไม่ผิดต่อข้อกฎหมาย เพราะถือเป็นการให้โดยเสน่หา ไม่ได้มีการบังคับ และที่สำคัญเป็นการให้หลังก่อเหตุ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark