ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : แจ้งข้อหา จนท.รัฐ 10 คน ทุจริตร่วมฮั้วประมูลเรือประมงแปลงสัญชาติ

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ยังคงตามติดกรณีการฮั้วประมูลเรือประมง 5 ลำ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว 11 ราย ล่าสุดมีการออกหมายเรียกเจ้าหน้าที่รัฐและภาคประชาชนอีกรวม 18 ราย มาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ติดตามจากรายงาน คุณมะลิ แซ่ฉิ่น

กรณีการจับกุมเรือสัญชาติมาเลเซีย ลักลอบเข้ามาทำประมงโดยผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยปลอมแปลงสัญชาติสวมธงชาติอินโดนีเซีย

จนต่อมา เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้เกี่ยวข้องในเรือได้ 22 คน และศาลมีคำสั่งปรับ พร้อมกับ ริบเรือของกลางทั้ง 5 ลำเอาไว้

ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรสิงหนคร จะมอบเรือของกลางทั้งหมดไปให้กับด่านศุลกากรสงขลาเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560

และในวันที่ 17 มีนาคม 2565 ด่านศุลกากรสงขลา ได้นำเรือของกลางทั้งหมดออกไปขายทอดตลาด ซึ่งหากมองผิวเผิน ก็เหมือนการประมูลโดยทั่วไป แต่คณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กลับไม่ได้เห็นเช่นนั้น เมื่อพบข้อมูลที่เชื่อได้ว่ามีการฮั้วประมูลกัน

ที่ผิดปกติกว่านั้น คือ ผู้ชนะประมูลพยายามนำเรือออกจากท่าไปยังประเทศมาเลเซีย โดยแทบไม่สนใจขั้นตอนที่ควรปฏิบัติ และฝ่าฝืนคำสั่งกักเรือของพนักงานเจ้าหน้าที่

แน่นอนว่าการฮั้วประมูลในลักษณะนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากไม่มีคนในรู้เห็นเป็นใจ หรือ อำนวยความสะดวก ตำรวจจึงสาวต่อไปจนพบพฤติกรรมของกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่มีนายด่านจังหวัดสงขลา เป็นหัวหน้ากลุ่ม แต่งตั้งคณะกรรมการ 7 ราย โดยมีนายด่านเป็นผู้อนุมัติเรือ 2 ลำ

งานนี้หากจะแยกเป็นพฤติการณ์กระทำผิดรายบุคคล พบว่ามีเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรที่ร่วมกระทำความผิดจำนวน 10 ราย และมีผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่อีกจำนวน 8 ราย ซึ่งขณะนี้ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐาน และแจ้งข้อกล่าวหากับกลุ่มเจ้าหน้าที่ศุลกากรดังกล่าวไปแล้ว แต่ทั้งหมดยังคงให้การภาคเสธ และใช้สิทธิ์ในการสู้คดี

กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่องค์กรจากต่างประเทศให้ความสนใจ เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ในลักษณะของการฮั้วในการประมูลงาน ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมูล สามารถแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบจากผู้ประมูลได้ จากการดำเนินการมีการกระทำในลักษณะเป็นการสมยอมในการเสนอราคาและมีพฤติการณ์ต่าง ๆ อันทำให้มิได้มีการแข่งขันกันเสนอประโยชน์สูงสุดให้แก่หน่วยงานของรัฐอย่างแท้จริง และเกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติ ซึ่งเป็นการละเว้นไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ อันมีผลทำให้ปัญหาในการเรื่องนี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark