ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : มองอนาคต หลัง กสทช. รับทราบควบรวม ทรู-ดีแทค

ข่าวภาคค่ำ - วันนี้ คุณสุธาทิพย์ ผาสุข ชวนสำรวจ ตรวจสอบ ส่องมุมมอง สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต หลังบอร์ด กสทช. มีมติรับทราบให้ผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทรู-ดีแทค ควบรวมกันได้ ดีลนี้มีผลกับประชาชนผู้ใช้บริการ และธุรกิจโทรคมนาคมที่มีมูลค่ารวมกว่า 6.47 แสนล้านอย่างไร ติดตามพร้อมกันในคอลัมน์หมายเลข 7

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลจากดีลธุรกิจของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กระตุกสังคมให้หันมาตื่นตัว ทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างมาก จนเกิดการตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของ กสทช. อย่างเข้มข้น ว่าได้ปฏิบัติตามอำนาจ หรือ มีความพยายามถ่วงเวลาลอยตัวไม่ตัดสินใจ เห็นได้จากการเลื่อนพิจารณามาตรการควบรวมที่ผ่านมาถึง 3 ครั้ง กว่าจะได้บทสรุปให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 เจ้า ควบรวมธุรกิจกันได้ ด้วยมติที่ประชุม 3 ต่อ 2

แม้ กสทช. จะยืนยัน การควบรวมครั้งนี้ มีเงื่อนไขปฏิบัติต้องคุ้มครองและไม่กระทบกับผู้บริโภค โดยหยิบยกข้อดีหลายด้านมาโน้มน้าวสังคม แต่ในความเป็นจริง มีข้อมูลปรากฎว่าการควบรวมของสองบริษัทที่ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ อันดับสองและสามเข้าด้วยกัน จะครองส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่งทันที และมีการวิเคราะห์ถึงสิ่งที่จะตามมา นั่นคือการแข่งขันลดลง ซึ่งผู้บริโภค ที่มีโอกาสเลือกโพรโมชันได้หลากหลาย ก็จะลดลงตามไปด้วย เพราะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากมีอำนาจเหนือตลาดแล้ว

มุมมองและการวิเคราะห์เหล่านี้สอดคล้องกับข้อมูลจำลองตามหลักทิศทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคาดการณ์ถึงแนวโน้มค่าใช้บริการเฉลี่ยของตลาด หากการแข่งขันของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง มีความเป็นไปได้ว่าค่าบริการ ที่ผู้บริโภคต้องจ่าย จะเพิ่มขึ้น 7-10% หรือ หากการแข่งขันในตลาดเกิดขึ้นกันตามปกติ แนวโน้มค่าบริการก็จะเพิ่มขึ้น 13-23% แต่หากธุรกิจรายใหญ่จับมือฮั้วกัน จะทำให้ผู้บริโภคต้องควักเงินจากกระเป๋าจ่ายค่าบริการเพิ่มสูง 66-120% และเป็นเหตุให้หลังจากนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่คัดค้านการควบรวมมาตลอด เตรียมขอคุ้มครองฉุกเฉิน และร้อง ป.ป.ช. พิจารณาการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช. ว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบหรือไม่

ดีลประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นได้ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ต้องติดตาม และ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ต้องให้คำตอบ หลักประกันต่อสังคม พิสูจน์ด้วยการบริหารที่มีธรรมาภิบาล ขณะที่สังคมต้องช่วยกันขบคิด ว่ากฎหมายที่มีคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ยังมีช่องโหว่ให้เกิดการผูกขาด ที่ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark