ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : พื้นที่รับน้ำ ชาวบ้านรับกรรม ทำอย่างไรให้เป็นธรรม

ข่าวภาคค่ำ - พื้นที่ทุ่งรับน้ำ ไม่ใช่พื้นที่ทุ่งรับกรรม เสียงจากชาวบ้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ส่งไปถึงรัฐบาล หลังตกอยู่ในสภาพจมบาดาลมานานกว่า 2 เดือน ย้ำเตือนภาครัฐ กลับมาทบทวนนโยบายพื้นที่รับน้ำ ชาวบ้านรับกรรม ทำอย่างไรให้เป็นธรรม ติดตามในคอลัมน์หมายเลข 7 กับคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร

อย่าบังคับให้น้ำท่วมเป็นวิถีชีวิต คือความคับข้องใจที่ชาวบ้านอำเภอบางบาลระบายออกมา หลังถูกน้ำท่วมขังมากว่า 2 เดือน

อย่างครอบครัวนี้เธอต้องสูญเสียสามีไปต่อหน้าต่อตา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เพราะอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก กว่าจะช่วยหามลงเรือ ฝ่ากระแสน้ำออกไปจนถึงถนนใหญ่ก็ไม่ทันกาล เป้าหมายโรงพยาบาลต้องเบนเข็มตีรถกลับมาที่วัด เคราะห์ซ้ำกรรมซัด วัดก็น้ำท่วมไม่สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ ต้องนำร่างคนรักใส่โรงเย็น รอวันน้ำลดเพื่อส่งสามีไปสู่สวรรค์

น้ำหลากยังพอรับได้ แต่น้ำท่วมซ้ำซาก จนถูกเหมารวมว่า น้ำท่วมคือวิถีชีวิต เป็นสิ่งที่ชาวบ้านเริ่มตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม เพราะพื้นที่ทุ่งรับน้ำ ไม่ควรเป็นพื้นที่ทุ่งรับกรรม แบบที่ไม่รู้แม้กระทั่งชะตากรรมของตัวเอง จะต้องจมน้ำอีกนานแค่ไหน

ปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตของนักวิชาการว่า นโยบายทุ่งรับน้ำ ที่ปล่อยชาวบ้านรับกรรม คือแนวทางที่ต้องทบทวนหรือไม่ เพราะไม่ได้มีแต่พื้นที่ ที่ต้องรับน้ำ แต่ยังมีชุมชนที่ต้องจมบาดาลด้วย จึงต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นธรรม สำหรับคนในทุ่งและคนนอกแนวคันกั้นน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาที่เหมาะสม

หลังมีการสะท้อนดัง ๆ นายกรัฐมนตรี ก็เตรียมเรียกประชุมเพื่อพิจารณาความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่รับน้ำ เพื่อเร่งแก้ปัญหาแล้ว

สำหรับลุ่มภาคกลางตอนล่าง มีพื้นที่ทุ่งรับน้ำอยู่ 10 ทุ่ง กินพื้นที่รวมกันเกือบ 1 ล้านไร่ รับน้ำได้มากกว่า 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ชาวบ้านรับสภาพ ด้วยจำนนต่อภูมิประเทศ แต่รัฐต้องมีแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนที่ชัดเจน การระบายน้ำเข้าทุ่ง ต้องไม่ลืมว่าในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ ยังมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่กำลังรับกรรม และต้องการความเป็นธรรมจากนโยบายของรัฐบาล

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark