ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ขายของหมดอายุ เอาผิดได้ไหม ?

เช้านี้ที่หมอชิต - ทุกข์ผู้บริโภคหลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มีการให้ข่าวว่า การขายอาหารหมดอายุไม่มีความผิด นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ว่า แบบนี้ก็เข้าทางผู้ค้าหรือไม่

กรณีผู้บริโภคโพสต์ข้อความและรูปภาพการสั่งซื้อโดนัท จากห้างค้าปลีกผ่านทางแอปพลิเคชัน แต่กลับได้รับของหมดอายุที่แปะป้ายราคาใหม่ที่แพงขึ้น จนนักข่าวไปสัมภาษณ์รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ถึงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคว่าจะทำอะไรได้บ้าง

แต่คำตอบที่ได้ คือ หากเป็นอาหารหมดอายุแล้วถ้านำมาขายก็ไม่มีความผิด เพราะปัจจุบันพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522  หรือ ใช้กันมาแล้ว 43 ปี ไม่มีมาตราใดกำหนดเรื่องนี้ไว้

เรื่องนี้ทีมข่าว ตรวจสอบกับรองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ระบุว่า กรณีนี้ได้ตรวจสอบฉลาก พบว่า ยังมีความกำกวม ถึงวันที่ผลิตและหมดอายุของสินค้าไม่ชัดเจน แต่พฤติกรรมการณ์ แปะฉลากซ้ำ ก็อาจมีความผิดเข้าได้กับกฎหมายอาญา แม้ว่าจริง ๆ แล้วเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับ พ.ร.บ.อาหาร ที่ อย. ดูแล และยังไม่มีข้อบัญญัติเอาผิดตรง ๆ ในประเด็นนี้ เพราะต้องพิสูจน์อาหารนั้น ๆ ก่อนก็ตาม

นั่นไงว่าแล้ว... จะไม่มีกฎหมายเอาผิดได้อย่างไร ก็ต้องบอก พ่อค้า แม่ค้า ผู้ผลิตอาหาร ที่มีพฤติกรรมขายอาหารหมดอายุซ้ำ อย่าคิดลักไก่ ฉวยโอกาส หวังมีรายได้แล้วลดต้นทุนด้วยวิธีการนี้เด็ดขาด เพราะไม่ใช่แค่ปรับเป็นเงินเท่านั้น แต่มีโทษจำคุกถึง 3 ปี ข้อสำคัญเรื่องนี้ ผู้บริโภคหากเจอกับตัวเอง ก็สามารถไปแจ้งความกับตำรวจได้ทันที ไม่ต้องพึ่งหน่วยงานรัฐที่ดูแลอย่าง อย. หรือ สคบ.

และหากผู้บริโภค เกิดพลาดไปเจออาหาร ที่มาจากพฤติการณ์ข้างต้นของผู้ค้า  ถ้ารับประทานเข้าไปเกิดอาหารเป็นพิษจนมีผลกระทบต่อร่างกาย เรื่องนี้ สคบ. บอกว่า จะไม่ปล่อยเช่นกันให้ร้องได้สายด่วนผู้บริโภค 1166 เพื่อดำเนินการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ส่วนประเด็น พ.ร.บ.อาหาร ที่ใช้กันมาถึง 43 ปี แม้ อย. ยอมรับว่า ยังเอาผิดกับผู้ค้าที่นำอาหารหมดอายุมาจำหน่ายไม่ได้หากยึดตามกฎหมายนี้ เพราะขั้นตอนต้องมีการพิสูจน์กันก่อน คือ ไปตรวจสอบสถานที่จำหน่าย และ นำอาหารนั้น ส่งตรวจว่าสามารถรับประทานได้หรือไม่ ซึ่งผิดกับ พ.ร.บ.ยา หากจำหน่ายยาที่หมดอายุแล้วจะมีความผิดทันที 

เรื่องนี้ อย. ก็ยืนยันว่า ไม่ได้เพิกเฉยที่ผ่านมาพยายามผลักดันแก้ไขกฎหมายนี้มาตลอด โดยประเด็นขายอาหารหมดอายุ ถ้าผ่านการพิจารณาของสภาฯ และมีผลบังคับใช้ ต่อไปก็จะมีความผิดทันที

ด้าน นายแพทย์ เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ก็ย้ำว่า การรับประทานอาหาร เลยวันที่ควรบริโภคก่อน (best before date) คุณค่าทางโภชนาการจะลดลงเรื่อย ๆ หนำซ้ำยังเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ที่อาจเกี่ยวกับการเก็บรักษาอาหาร เช่น เก็บในตู้เย็นอาจมีเชื้อรา แบคทีเรีย ที่เติบโตจนปนเปื้อนในอาหารได้ จึงขอให้เลี่ยงรับประทานอาหารที่เลยวันหมดอายุ

ก็เรียกว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิด แต่ก็เกิดขึ้นแล้วสำหรับการซื้ออาหารบริโภค แต่กรณีซื้อโดนัทครั้งนี้ ก็มีรายงานจาก อย. ว่า ผู้บริโภคได้รับคำขอโทษ และได้รับการเยียวยาจากผู้ค้า ซึ่งก็ไม่ติดใจเอาความใด ๆ กันแล้ว

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark