ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

น้ำท่วมได้แค่ปลง น้ำลงยังส่งกลิ่นเหม็น

เช้านี้ที่หมอชิต - แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะเริ่มลดระดับความรุนแรงลง แต่ยังมีอีก 21 จังหวัด ที่จมน้ำ กระทบประชาชนมากกว่า 520,000 ครัวเรือน ขณะที่ชุมชนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา กำลังเดือดร้อนหนักจากปัญหาน้ำเน่า

อย่างที่จังหวัดชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยล้นตลิ่ง เข้าท่วมพื้นที่ 7 ตำบล 49 หมู่บ้าน ในอำเภอสรรพยา น้ำลดลงจากตลิ่งเกือบหมดทุกหมู่บ้านแล้ว หลังเขื่อนเจ้าพระยา ลดการระบายน้ำต่อเนื่องมาอยู่ที่อัตรา 2,228 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ดีขึ้น แต่ยังมีน้ำท่วมขังตามถนนในหมู่บ้าน และบ้านเรือนประชาชนอีกจำนวนมาก บางจุดน้ำยังท่วมสูงตั้งแต่ 30 เซนติเมตรไปจนถึง 1 เมตร แต่บางจุดน้ำก็ตื้นจนไม่สามารถใช้เรือพายได้ และน้ำท่วมขังมานาน ทำให้เกิดการเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น อีกทั้งยังมีปลิงชุกชุม ทำให้ชาวบ้านยังเดือดร้อนหนัก เวลาจะเข้าออกบ้าน ต้องทั้งพายเรือ และเดินลุยน้ำแล้วยังต้องคอยระวังไม่ให้ปลิงมาเกาะขาอีกด้วย

จากความเดือดร้อนหนักเช่นนี้ ชาวบ้านได้แต่ช่วยตัวเอง ด้วยการนำเครื่องสูบน้ำของชาวบ้านเอง และออกค่าน้ำมันสูบน้ำกันเอง ไปติดตั้งริมถนนทางหลวง 311 เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ให้หมดโดยเร็ว

จากจังหวัดชัยนาท เราส่งน้องมายด์ พิชฎา คงมณี ลงพื้นที่ไปตรวจสอบปัญหาของชาวอ่างทอง ที่ทนทุกข์จากปัญหาน้ำเน่าเสียไม่ต่างกัน โดยพบว่า หลายตำบลในจังหวัดอ่างทองได้รับผลกระทบกันเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นน้ำที่ล้นทะลักมาจากคันกั้นดินที่ถล่มมาจากเขตอื่น จนไหลวนเข้ามาในชุมชนทำให้ชาวบ้านรับมือไม่ทัน 

โดยเฉพาะโรงเรียนชุมชนวัดท่าอิฐ เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิดไม่มีทางระบายน้ำทำให้น้ำเน่าเสียอย่างรวดเร็ว โชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องการระบายน้ำออกจากวัด ตอนนี้คุณครูในโรงเรียนจึงได้เร่งออกมาทำความสะอาดก่อนที่คราบสกปรกจะล้างไม่ออก ส่วนในพื้นที่ชุมชนอื่น ๆ มีทางระบายน้ำออกอย่างจำกัด ทำให้ระบายน้ำออกได้น้อย แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องน้ำเน่า ส่งกลิ่นเหม็น และน้ำเชี่ยวอันตรายต่อการพายเรือ นอกจากนี้ยังมีถนนทางเข้า-ออกหมู่บ้าน พังถล่มลงมาทำให้รถสัญจรไม่ได้

อีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือ อำเภอป่าโมก โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำล้นจึงจะเป็นด่านแรกที่จะได้รับน้ำทันที ชาวบ้านยอมรับว่าปีน้ำเยอะกว่าปี 2554 แต่ยังสามารถรับมือได้ทัน แตกต่างจากปี 54 ที่น้ำมาทีเดียวแบบไม่ทันตั้งตัว

ชาวบ้านบอกว่าน้ำที่ท่วมมา 1 เดือน ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือดูแล และยังไม่เคยมาบอกชาวบ้านเลยว่าจะจัดการน้ำอย่างไร ตอนนี้ชาวบ้านเป็นห่วงเรื่องค่าซ่อมแซมบ้าน และค่าจ้างคนมาขนของเพราะไม่อยากซื้อใหม่ แม้จะไม่มีเงินก็ต้องไปหาหยิบยืม หากเป็นไปได้อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเห็นปัญหาที่ชาวบ้านตาดำ ๆ ต้องพบเจอบ้างสักครั้งก็ยังดี

อีกจุดน้ำท่วมบ่อขยะ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย เทศบาลเมืองอ่างทอง แม้น้ำลดระดับมากกว่า 50 เซนติเมตร แต่มีข้อกังวลน้ำที่ยังท่วมอยู่ หากสะสมจนเกิดความสกปรกมาก อาจทำให้คุณภาพน้ำประเภทที่ 3 อยู่ระดับพอใช้ จากผลตรวจล่าสุดเปลี่ยนสภาพแย่ลงได้ 

และล่าสุดนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทวราช เซ็นคำสั่งปิดบ่อขยะในพื้นที่ตำบลเทวราช อำเภอไชโย หลังไม่พบใบอนุญาตให้ดำเนินการได้

และปัญหาน้ำท่วมสู่น้ำเน่า ไม่ใช่แค่ที่เรารายงานข้างต้น แต่มีข้อมูลจากชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เผยปัญหาน้ำเน่าหลังน้ำท่วมทั่วประเทศว่า มีอยู่ 11 จังหวัด ที่ร้องเรียนเข้ามา แต่หนักที่สุดอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ หนำซ้ำปัญหาขยะหมักหมม จากการบริโภค, การใช้น้ำชำระล้างสิ่งของ, ประชาชนขับถ่ายสิ่งปฏิกูล ยังเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดน้ำเน่าได้ง่าย

ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้มีผลจากระบบบริหารจัดการน้ำขาดประสิทธิภาพ จึงเสนอแผนระยะสั้น คือ ต้องจัดระบบจัดเก็บสิ่งปฏิกูลออกจากพื้นที่ทุกวัน,ผันน้ำลงสู่พื้นที่เกษตรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ส่วนระยะยาวรัฐบาลควรสร้างทางด่วนไว้ผันน้ำสู่ทะเลโดยตรง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมนาน จนเกิดเป็นน้ำเน่าได้

ขณะที่เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เผย แผนการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัย ที่ขณะนี้บางพื้นที่ประสบกับภาวะน้ำเน่า ว่า มีหน่วยงานทั้งระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง จัดเตรียมทั้งอีเอ็ม และแผนสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่ค่อนข้างจะหนักกว่าพื้นที่อื่น ระยะยาวก็มีทั้งฟลัดเวย์ผันน้ำสู่ทะเล อาทิ โครงการคลองระบายน้ำหลาก ป่าสัก-อ่าวไทย หรือ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ที่จะแก้ปัญหาลักษณะลำน้ำเจ้าพระยาแคบจนน้ำเอ่อล้นตลิ่งประจำ ควบคู่กับมาตรการเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำไว้ตอนบน ก่อนลงสู่พื้นที่ภาคกลาง สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้จึงไม่ใช่แค่เร่งลดระดับน้ำท่วมเท่านั้น ยังต้องตามติดปัญหาน้ำท่วมขังที่กลายเป็นน้ำเน่า เพื่อให้น้ำตาชาวบ้านเหือดแห้งโดยเร็วที่สุด

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark