ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : คนไทยหนี้ลด แต่รายได้ ไม่พอรายจ่าย

ประเด็นเด็ด 7 สี - คนมีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน วันนี้พาคุณผู้ชมไปสำรวจสถานะทางการเงิน โดยเฉพาะภาระหนี้สิน หลังมีข้อมูลว่าหนี้สินครัวเรือนไทย เริ่มลดลงแล้ว ติดตามกับคุณณัฐชนนท์ ในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

ต้องเรียกว่า ว่าคนไทย ยังคงแบกภาระกันหนักอึ้ง เพราะเมื่อดูจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ที่ยังสูงกว่า 14 ล้านล้านบาทในช่วงไตรมาสที่ 2 และหากเราไปดูการก่อหนี้เพิ่ม จะพบว่าเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะหลายคนกู้หนี้จนเต็มเพดานแล้ว ส่วนการชำระหนี้ในภาพรวม ก็ยังน่าหวั่น

มาดูภาวะหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 2 ปี 2565 สูง 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากไตรมาสที่แล้ว 3.5% แต่ก็เป็นการขยายตัวไม่แรง เท่ากับเมื่อช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 ระบาดหนัก และยังถือว่าขยายตัวช้าที่สุดในรอบ 18 ปีด้วย ซึ่งเมื่อเราดูกันในภาพรวมจะพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทย เริ่มชะลอตัวลง มาอยู่ที่ 88.2% ต่อ GDP จากก่อนหน้านี้ เคยพีกสูงสุดที่ระดับ 90.5% ต่อ GDP เมื่อช่วง 3 เดือนแรกของปีที่แล้ว แม้สัดส่วนหนี้จะเริ่มลดลงแต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะเมื่อเราไปดูการขอสินเชื่อ หรือการก่อหนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ จะพบว่าสัดส่วนสินเชื่อชะลอลงเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัวเร่งขึ้นจากการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

มาดูสัดส่วนหนี้เสีย หรือที่เค้าเรียกกันว่า NPL กันบ้าง ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ดูเหมือนจะเริ่มวิตกอยู่เหมือนกัน หลังทิศทางหนี้เสียเริ่มขยับสูงขึ้น โดยหนี้เสีย ไตรมาส 3 หรือเดือนกันยายน อยู่ที่ 3.14% หรือหนี้สินคงค้างมีกว่า 540,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 3.09%

หนี้เสียส่วนใหญ่ที่ขยับสูงขึ้น มาจาก สินเชื่อธุรกิจ อย่างเช่นกู้เงินไปทำธุรกิจ นั่นเอง  NPL ส่วนหนี้เพิ่มจาก 3.17% มาเป็น  3.25% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนสินเชื่ออุปโภค บริโภค ลดลงจาก 2.92% มาอยู่ 2.89% ซ้ำร้ายยังพบข้อมูลการใช้บัตรเครดิตที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้รวม ๆ แล้วหนี้เสียจากพิษโควิด-19 บูดบวมขึ้นอีก 200,000 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กระทั่งแตะ 400,000 ล้านบาทเลยทีเดียว ส่วนสินเชื่อรถยนต์ ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ซึ่งด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย ทำให้ทุกวันนี้ เราต้องประจันหน้ากับปัญหา 3 ด้าน ได้แก่ ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย, ปัญหาเงินออมลดลง, ปัญหาการชำระหนี้ แน่นอนเมื่อมีปัญหา ความเสี่ยงที่จะก่อหนี้ ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่ง EIC ไทยพาณิชย์ ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP จะปรับลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 86-87% ณ สิ้นปี 2022 ผลจากแนวโน้มเงินเฟ้อสูงเป็นหลัก สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่มีแนวโน้มลดลง จะไม่สะท้อนปัญหายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในภาพรวมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ท่ามกลางภาวะรายได้โตช้ากว่ารายจ่ายของครัวเรือนบางกลุ่ม และวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น มาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยังเป็นเรื่องท้าทาย ไปฟังมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์กัน

เมื่อสัดส่วนหนี้เสียเริ่มขยับสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ก็ดูเหมือนจะเริ่มวิตกอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ได้ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% สูงที่สุดในรอบ 14 ปี ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยในรอบต่อไปในช่วงปลายเดือนนี้ด้วย ซึ่งก็ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า ไทยเองอาจจะมีการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งเช่นกัน

และเมื่อดอกเบี้ยเพิ่ม บรรดาลูกหนี้ก็เริ่มขยับเข้าสู่หน้าผา NPL อีกครั้ง ความหวังเดียว วันพรุ่งนี้เตรียมเอกสารให้พร้อม มุ่งหน้าไปปรึกษา และปรับโครงสร้างหนี้ วางแผนทางการเงินใหม่ในงานมหกรรมแก้หนี้ รอบแรกจัดขึ้นที่เมืองทองธานี ก่อนจะกระจายทั่วประเทศในระยะถัดไป

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark