ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

พบผู้ป่วยไข้หูดับกว่า 100 คน จ.นครราชสีมา

เช้านี้ที่หมอชิต - มีคำเตือนจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ห้ามบริโภคเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ ประเภท ลาบเลือดดิบ หรือหลู้ เพราะตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยไข้หูดับแล้วกว่า 100 คน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง

โดย นางเบญจมาศ อุนรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงนี้มีงานเลี้ยง งานบุญต่าง ๆ มีการนำเนื้อหมูมาประกอบอาหารเลี้ยงคนในงาน อาจทำให้ผู้ที่กินเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ ติดเชื้อนี้ได้ ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเหลว คอแข็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อ และอาจรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต สาเหตุของโรคหูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย

จากการเฝ้าระวังในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 ตุลาคม 2565 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับจำนวน 101 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ คือ จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 88 คน, จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 3 คน, จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 10 คน ส่วน จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่มีผู้ป่วย พบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มอายุ 55-64 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอย่ากินเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบ 

นอกจากผู้ที่กินหมูดิบแล้ว ยังมีกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไข้หูดับ ได้แก่ ผู้ที่เลี้ยงสุกร ควรสวมรองเท้าและถุงมือทุกครั้งเมื่อเข้าไปทำงานในคอกสุกร ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสุกร และผู้ทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ควรสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด สวมรองเท้าบู๊ทและถุงมือ หากมีบาดแผล ต้องปิดแผลให้มิดชิด เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสุกรโดยตรง ส่วนผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ควรจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ทำความสะอาดแผงด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อทุกวันหลังเลิกขาย และเก็บเนื้อหมูที่จะขายในอุณหภูมิที่ตํ่ากว่า 10 องศาเซลเซียส หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค สายด่วน 1422

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark