ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

เยาวชน 18 ปี ก่อเหตุฆ่าเด็ก 13 ปี

เช้านี้ที่หมอชิต - เกิดกรณีช็อกสังคม เมื่อเยาวชนอายุ 18 ปี ไม่พอใจเด็กอายุ 13 ปี จนก่อเหตุบีบคอและใช้สายไฟฟ้าฟาด ทำร้ายจนสุดท้ายเด็กเสียชีวิต

เยาวชน 18 ปี ก่อเหตุฆ่าเด็ก 13 ปี
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ในตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง กล้องวงจรปิดบันทึกภาพขณะที่เยาวชนอายุ 18 ปี ขี่รถจักรยานยนต์มาพร้อมกับเพื่อนจอดในซอยหน้าบ้านของเด็กชายอายุ 13 ปี ก่อนที่จะส่งเสียงเอะอะโวย และเดินเข้าไปหาเด็กอายุ 13 ปี ซึ่งอยู่ในบ้านกับน้าสาว ก่อนใช้มือบีบคอ และใช้สายไฟฟ้ากระหน่ำตีตามใบหน้าและร่างกาย จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลระยอง พบว่ามีเลือดออกที่เยื่อบุสมอง หลังรักษาตัวที่โรงพยาบาล 4 วัน จึงเสียชีวิต

ส่วนสาเหตุคาดว่าเยาวชนอายุ 18 ปี ไม่พอใจที่เด็กอายุ 13 ปี ไปพูดคุยและอยู่กับคู่อริตนเอง จึงบุกมาทำร้ายถึงในบ้านจนเสียชีวิต ทั้งนี้ ทางครอบครัวได้แจ้งความที่ สภ.ห้วยโป่ง เพิ่มเติมจากคดีทำร้ายร่างกาย เป็นคดีทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต พร้อมให้ออกหมายจับ เพราะเกรงจะหลบหนี เพราะผู้ต้องหาได้โพสต์และไลฟ์ในกลุ่มเผยพฤติกรรมทำร้ายร่างกายเด็ก โดยไม่สะทกสะท้าน

เดือด! "เด็ก 18 ฆ่าเด็ก 13" ติดเทรนด์ทวิตเตอร์
เรื่องโพสต์หรือไลฟ์ในกลุ่มนี้เองได้กลายเป็นประเด็นเดือดในโลกโซเชียลติดเทรนด์ทวิตเตอร์เลย เพราะผู้ต้องหาหลังได้ประกันตัวคดีแรก ก็โพสต์ข้อความที่ชาวเน็ตมองว่าไม่สลดกับการกระทำ เช่น ขอออกไปลอยกระทงก่อน คดีค่อยว่ากันในศาล บ้านรวยไม่ต้องห่วง พูดถึงเงินประกันตัว 20,000 บาท และนัดเลี้ยงฉลอง ข่มขู่ญาติของเด็ก 13 ปี โดยมีเพื่อน ๆ ให้กำลังใจ โพสต์เหล่านี้ถูกทัวร์ลงหนักวิพากษ์วิจารณ์ยับเยิน จนเจ้าตัวต้องปิดโพสต์ไป

หลายความเห็นวิพากษ์กระบวนการยุติธรรม ที่ไม่เห็นด้วยกับคดีที่เยาวชนเป็นผู้ต้องหาก่อเหตุรุนแรง หลายคนออกมาก่อเหตุซ้ำเหมือนไม่ให้ความยุติธรรมกับเหยื่อ ก็มีคำอธิบายว่าเหตุผลหนึ่งที่คดีเยาวชนแตกต่างจากคดีบุคคลทั่วไป คือ เรื่องสมองของคนเราจะไม่โตเต็มที่จนกว่าอายุ 25 ปี โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า ที่มีหน้าที่ควบคุมตัวเอง ทำให้วัยรุ่นควบคุมตัวเองไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ เราจะเห็นในหลายกรณีที่ผู้ก่อเหตุเป็นวัยรุ่น และยังโพสต์ทางสื่อโซเชียลเช่นกรณีนี้

รวมถึงมีกฎหมายอาญา และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กไว้เป็นการเฉพาะ ศาลอาจไม่ลงโทษ หรือลงโทษเด็กที่กระทำผิดน้อยกว่ากฎหมายกำหนด หรืออาจใช้มาตรการอื่นแทน อย่างกรณีนี้ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงและดุลยพินิจของศาล เพราะโดยปกติเด็กในวัย 15-18 ปี มักหลงผิดได้ง่าย แต่ก็มีสามัญสำนึกความรับผิดชอบชั่วดีเช่นผู้ใหญ่เช่นกัน ดังนั้นจึงลงโทษเท่าผู้ใหญ่ แต่ลดโทษให้เป็นกรณีความผิดที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง หรือ 1 ใน 3

เรื่องนี้ พันตำรวจโท กฤษณพงค์ พูตระกูล นักอาชญวิทยา ให้ความเห็นไว้ว่า วัตถุประสงค์การลงโทษเนื่องจากเด็ก เยาวชน ยังเป็นผู้อ่อนต่อโลกอยู่ ไม่ควรมีโทษอัตราเดียวกับผู้ใหญ่ การลงโทษจึงพิจารณาหลายอย่างทั้งวุฒิภาวะ ประสบการณ์ หลักการทางการแพทย์

ส่วนที่สังคมเรียกร้องให้เด็ดขาดมากขึ้น ในทางอาชญวิทยามองว่าจะทำให้เด็กเยาวชนที่ถูกลงโทษเกิดความเคียดแค้น กดดัน และก่อเหตุที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นกรณีเด็กและเยาวชนต้องการลงโทษเพื่อให้เกิดการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรม มากกว่าการลงโทษ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark