ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ย้ำเตือนบทบาท อส. อะไรทำได้ อะไรเกินกว่าเหตุ หลังพบเจ้าหน้าที่ระงับเหตุผิดตัว ล็อกเด็กอายุ 13 ปี

เช้านี้ที่หมอชิต - เมื่อวานนี้เรานำเสนอเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ อส. ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการระงับเหตุผิดตัว ล็อกตัวเด็กชายอายุ 13 ปี กดลงกับพื้นจนได้รับบาดเจ็บ ญาติจึงแจ้งความเอาผิดแต่สุดท้ายก็ไกล่เกลี่ยกันได้ หลายคนจึงตั้งคำถามว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ วันนี้เลยจะพามาดูบทาท หน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ อส. กันอีกครั้งว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้บ้าง

จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ อส. ระงับเหตุผิดตัว ล็อกเด็กอายุ 13 ปี กดลงกับพื้นจนน้องได้รับบาดเจ็บกล้ามเนื้อหลังอักเสบ เพราะไปวิ่งเล่นอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอวังน้อย แล้วปรากฏว่ามีวัยรุ่นไล่ตีกันมาพอดี เจ้าหน้าที่ อส. จึงเข้าใจว่าเป็นกลุ่มที่ทะเลาะวิวาทกันจึงทำการระงับเหตุโดยใช้วิธีการเดียวกันกับที่ทำกับผู้ใหญ่ จนเด็กได้รับบาดเจ็บ จนผู้ปกครองต้องออกมาร้องขอความเป็นธรรม

และถ้าคุณผู้ชมจำได้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็มีเจ้าหน้าที่ อส. ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่นเดียวกัน ที่ปฏิบัติหน้าที่ระงับเหตุระหว่างกลุ่มคน 2 กลุ่มที่มีเรื่องกัน เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจโรงงานน้ำแข็ง มีการใช้อาวุธปืนออกมายิงกันกลางเมือง จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ อส. ตกเป็นผู้ร่วมก่อเหตุความวุ่นวายครั้งนั้นด้วย เพราะใช้อาวุธปืนยิงโดยที่ยังมีประชาชนสัญจรอยู่บนถนนด้วย

คราวนี้เรามาดูบทบาท อส. เราสอบถามไปยัง รศ.ตระกูล มีชัย รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า อส. ก็คือประชาชนที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่ดูแลรักษาด้านความมั่นคงภายใน เป็นกำลังสำคัญของฝ่ายปกครองในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน

แต่แม้ว่าจะมียศ มีค่าตอบแทนจากรัฐ แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา อส. ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะปฏิบัติหน้าที่ได้ต้องมีคำสั่งมาจากผู้บังคับบัญชา เช่น ปลัด หรือ นายอำเภอ ที่เป็น ผบ.หมู่ ผบ.กองร้อย เท่านั้น ไม่สามารถปฏิบัติการได้โดยพละกาล การพกอาวุธปืนก็ต้องมีคำสั่งจากผู้บัญชาการเท่านั้นจึงจะนำไปใช้ได้

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark