ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

กำลังใจล้นโซเชียล ขอปาฏิหาริย์ให้หมอหนุ่ม

ข่าวสังคม 12 พฤศจิกายน 2565 - สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - กำลังใจล้นโซเชียว ขอให้ปาฏิหาร์มีจริง ภาวนาให้หมอหนุ่มอนาคตไกล ที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย หายเป็นปกติ ด้าน สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยคนไทย ป่วยมะเร็งปอดปีละ กว่า 17,000 คน คร่าชีวิต เฉลี่ยวันละ 40 คน

โลกโซเชียลส่งกำลังใจให้หมอหนุ่มไม่ขาดสาย โดย นายแพทย์ กฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 28 ปี หรือ หมอไท เจ้าของเพจ "สู้ดิวะ" เล่าเรื่องราวของตนเอง หลังตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่ชอบออกกำลังกาย เป็นนักบาสเกตบอลของคณะแพทย์ฯ ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี ไม่มีภาวะเครียด ไม่สูบบุหรี่ และกินอาหารตามปกติ 

หมอหนุ่มอนาคตไกล เล่าว่า หลังเรียนจบ ม.6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้สอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เรียนจบตามเวลา 6 ปี จากนั้นเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัว อีก 3 ปี ซึ่งระหว่างนั้น มีความสนใจเรียนสาขาเฉพาะทางด้านระบาดวิทยาคลินิก นอกจากนี้ หมอไท ยังเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาวิทยาการข้อมูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ Data Science อีกใบ พร้อมบอกว่า เป็นช่วงเวลาที่สนุกกับการค้นคว้าหาความรู้ 

ปัจจุบัน หมอไท เป็นอาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิก และสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอีกไม่นาน หมอไทกำลังจะสร้างครอบครัว แต่งงานกับแฟนสาว

สัญญาณป่วยของหมอไท เริ่มมาจาก อาการไอ มีเสมหะ ไอแห้ง จึงไปตรวจโควิด-19 แต่ไม่พบ จึงประเมินว่า ตนอาจจะเป็นโรคกรดไหลย้อน และใช้ชีวิตตามปกติ จนผ่านไป 2 เดือน อาการก็ไม่ดีขึ้น

กระทั่งวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียด ผลเอกซเรย์ปอด ปรากฏว่า ปอดข้างขวาเหลืออยู่ครึ่งเดียว และมีก้อนกับน้ำอยู่ในปอด ส่วนปอดข้างซ้าย พบก้อนเล็ก ๆ กระจายอยู่ แพทย์จึงตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง พบว่า หมอไทเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย มีก้อนเนื้อขนาดประมาณ 8 เซนติเมตร อยู่ที่ปอดข้างขวา และกระจายตัวไปที่เยื้อหุ้มปอด ลุกลามไปปอดข้างซ้าย รวมไปถึงสมอง

ซึ่งขณะนี้ หมอไท ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง กำลังต่อสู้กับโรคร้าย มีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย ผมร่วง และภูมิคุ้มกันต่ำ หมอไท บอกว่า มะเร็งปอดระยะสุดท้ายที่เป็นอยู่ ไม่สามารถหายขาดได้ อาจจะมีชีวิตอยู่ต่อได้แค่หลักเดือน, 6 เดือน, 1 ปี, 2 ปี หรือ ถ้าโชคดีกว่านั้น ก็อาจจะถึง 5 ปี 

เรื่องราวนี้ทำเอาชาวโซเชียลเศร้าใจ และเสียดายหากต้องสูญเสียหมอหนุ่มไฟแรง พร้อมส่งกำลังใจขอให้ปาฏิหาริย์มีจริง ให้หมอไทหายดี มีแรงกลับมาสอนลูกศิษย์ รักษาคนไข้ และขอบคุณพลังบวกจากหมอไท ที่แชร์เรื่องราวเป็นอุทาหรณ์

นายแพทย์ สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้ว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง อายุน้อย มีโอกาสเป็นมะเร็งปอด ได้น้อยกว่าคนมีปัจจัยเสี่ยง และอายุมาก โดยอาจมาจากมลภาวะทางอากาศ เช่น ที่เชียงใหม่ ที่คุณหมอหนุ่มคนดังกล่าวอาศัยอยู่ มักมีปัญหาการเผาไหม้ ทำให้เกิดฝุ่นควัน ฝุ่น PM 2.5 ที่มักมาพร้อมกับสารก่อมะเร็งอีกหลายตัว เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลง ซึ่งการที่ PM 2.5 มีค่าสูง ก็จะสัมพันธ์กับสารก่อมะเร็งที่สูงเช่นกัน โดยมลภาวะทางอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อาจมีผลกับสารพันธุกรรมในร่างกาย ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงได้

อย่างไรก็ตาม แต่ละคนที่เกิดมาจะมีสารพันธุกรรมตั้งต้นจากพ่อแม่ที่แตกต่างกัน ความเปราะบางต่อการเกิดมะเร็งไม่เท่ากัน เมื่อเจอกับตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็ง แม้จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่เราคุ้นเคย ทั้งอาหารการกิน เหล้า บุหรี่ การนอนหลับพักผ่อน ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่เสี่ยงเป็นมะเร็ง สิ่งที่ช่วยป้องกันได้ คือ การคัดกรองตรวจสุขภาพ และตรวจมะเร็งตามโปรแกรม เพราะส่วนใหญ่ที่ตรวจเจอระยะแรก มักจะเจอจากการไปตรวจร่างกาย ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยมีร่างกายแข็งแรง หากมีอาการแสดงออกทางร่างกาย เช่น ไอเรื้อรัง หายใจเจ็บหน้าอก ไอเจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด เป็นไข้ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร นั่นหมายความว่า ปอดจะถูกทำลายไปมากกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว  

สำหรับโรคมะเร็งปอด ปัจจุบันการคัดกรองตามมาตรฐานยังไม่มีโดยเฉพาะ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยง ก็จะใช้วิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูความผิดปกติของปอด ส่วนคนทั่วไป การตรวจสุขภาพ เอกซเรย์ปีละครั้ง จะช่วยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของปอดในแต่ละปี นำมาเปรียบเทียบกันได้  

โดยภาพรวมโรคมะเร็งปอด พบผู้ป่วยปีละกว่า 17,000 คน ตกวันละประมาณ 47 คน และแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตกว่า 14,000 คน เฉลี่ยวันละ 40 คน โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด มาจากการสูบ หรือ รับควันบุหรี่

ขอบคุณภาพจาก : Facebook สู้ดิวะ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark