ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

ตำรวจสรุปผลปฏิบัติการช่วงเอเปก 2022

เช้านี้ที่หมอชิต - สำนักงานตำรวจแห่งชาติสรุปผลการปฎิบัติในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพึงพอใจ พร้อมชื่นชมตำรวจที่ปฎิบัติหน้าที่อย่างดีเยี่ยม ขณะที่ช่วงการประชุมพบว่ามีประชาชนแจ้งเบาะแสเข้ามา 59 ครั้ง แต่ตรวจสอบแล้วไม่พบว่าเป็นการเตรียมก่อเหตุรุนแรงแต่อย่างใด

พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชุมสรุปพร้อมกับปิดกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจร การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ซึ่งมีการใช้กำลังตำรวจ 35,000 นาย มีเครือข่ายจากภาคประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสต่าง ๆ กว่า 400,000 คน โดยขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดี บรรลุวัตถุประสงค์

ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังคงร่วมกันดูแลความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง จนกว่าภารกิจจะสำเร็จเสร็จสิ้น

สำหรับช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกที่ผ่านมา มีการรับแจ้งเหตุจากสายด่วน 1599 จำนวน 22 สาย เป็นการแจ้งเบาะแสต่าง ๆ และวัตถุวัตถุต้องสงสัย แต่พิสูจน์ทราบแล้วไม่ได้เป็นวัตถุต้องสงสัย หรือมีการเตรียมก่อเหตุรุนแรงแต่อย่างใด ส่วนสายด่วน 191 มีรับแจ้งเหตุ จำนวน 34 สาย รวมทั้งหมดเป็น 59 สาย

สำหรับเส้นทางที่มีการปิดการจราจรในช่วงการประชุม ได้เปิดการสัญจรตามปกติแล้วตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

การดูแลความปลอดภัยการประชุมครั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพึงพอใจกับผลปฎิบัติของตำรวจ โดยบอกว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความชื่นชม ขณะขบวนรถผ่าน ได้ลดกระจกรถ ยกนิ้วโป้งให้กับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความเรียบร้อยในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นอกจากนี้ตัวแทนจากประเทศชิลีก็ได้ชื่นชมการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ไทย และสอบถามถึงการปฎิบัติว่าใช้กำลังจากส่วนใดบ้าง

ส่วนการชุมนุมมีทั้งหมด 13 กลุ่ม มีผู้ชุมนุมถูกจับกุม 25 คน, มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ 13 คน และมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 14 นาย

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังเปิดเผยถึงเหตุการณ์ปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่ม ราษฎรหยุดเอเปก 2022 กับตำรวจ คฝ. ที่ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุม สื่อมวลชน และตำรวจ ได้รับบาดเจ็บว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจพิสูจน์รูปภาพที่ปรากฏตามโซเชียล รวมทั้งภาพที่ตำรวจบันทึกไว้ โดยยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และหากพบว่าตำรวจใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจริง ก็จะต้องพิจารณาลงโทษตามขั้นตอนต่อไป

ส่วนการเยียวยาสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บก็เป็นไปตามมาตรการ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น และมีสื่อมวลชนไปฟ้องศาลเพื่อเอาผิดตำรวจ หากศาลพิพากษาว่าตำรวจผิด ก็จะยึดตามคำพิพากษาเพื่อเยียวยาต่อไป พร้อมกับยอมรับว่าการควบคุมสื่อมวลชนทำข่าวค่อนข้างทำได้ยาก เพราะในเหตุการณ์มีสื่อมวลชนจำนวนมาก ทำให้การดูแลและอำนวยความสะดวกไม่ทั่วถึง แต่หลังจากนี้จะส่งตำรวจมาประสานงานกับสื่อมวลชนที่หน้างานทุกครั้งที่มีการชุมนุม เพื่อให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น และขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้แสดงสัญลักษณ์ เช่น สวมปลอกแขนว่าเป็นสื่อมวลชนที่ได้รับการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะยูทูปเบอร์ และสำนักข่าวที่ไม่ได้อยู่ในสาระบบจำนวนมาก จะต้องรายงานกับตำรวจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark