ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ขยายผลล่า จนท.รัฐ หากินกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 ตามต่อขบวนการขายข้อมูลให้แก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกคนในชาติ หลังพบมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าราชการกรมการค้าภายใน ลักลอบขายข้อมูลให้กับอาชญากร สร้างความเสียหายให้กับประเทศ การขยายผลไปถึงไหน ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการสกัดกั้นป้องกันข้อมูลของประชาชนอย่างไร คุณรัตนกรณ์ โต๊ะหมัด ไปหาคำตอบมาให้แล้ว

จากปฏิบัติการ เด็ดปีกมังกร จับเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นำโดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พบเจ้าหน้าที่รัฐ 2 ราย รายแรกเป็นตำรวจยศ พ.ต.ท. อีกรายเป็นข้าราชการสังกัดกรมการค้าภายใน ขายข้อมูลคนไทยด้วยกันให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีน มีรายได้วันละ 20,000 บาท หรือเดือนละ 600,000 บาท หลังธนาคารพบการเคลื่อนไหวของเงินจากบัญชีม้า เข้ามายังบัญชีของผู้ต้องหา

จากการสืบสวนพบการกระทำความผิด ใช้หน้าที่ราชการฉ้อฉล ส่งต่อข้อมูลส่วนตัวของคนไทยกว่า 1,000 รายชื่อ ให้กับแก๊งนายทุนจีน

คอมลัมน์หมายเลข 7 ติดตามการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อลากคอคนผิดมาใช้กรรมตามกฎหมาย อธิบดีกรมการค้าภายใน ยืนยัน ถ้ามีการกระทำความผิดจริง ข้าราชการรายนี้จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งทางอาญา แพ่ง เพราะถือเป็นการกระทำที่ผิดวินัยร้ายแรง จะมีโทษสูงสุด คือ ไล่ออก และจะไม่ได้รับบำเหน็จ บำนาญใด ๆ

ขณะนายตำรวจ ยศ พ.ต.ท. จากกสอบสวนยังคงให้การปฏิเสธ แต่จากพยานหลักฐาน เส้นทางการเงิน ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ยืนยันว่ามีส่วนกระทำความผิด และสามารถนำไปสู่การสั่งฟ้อง เพื่อเอาผิดได้แน่นอน

ทีมข่าวเจาะข้อมูลพบว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2564 ถึง กันยายนปีนี้ ตำรวจสามารถจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้แล้ว 285 คน มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,296,000,000 บาท ส่วนใหญ่ประชาชนที่ถูกหลอกจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, อุดรธานี, แม่ฮ่องสอน, สระแก้ว, สมุทรปราการ

ก่อนหน้าเคยมีคำถามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกประชาชน ตาสีตาสา จนบางรายถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว ไปเอาข้อมูลของประชาชนมาจากไหน วันนี้มีคำตอบแล้ว โจทย์ใหญ่ของหน่วยงานรัฐหลังจากนี้คือจะทำอย่างไร ไม่ให้คนในกลายเป็นโจร หยุดขบวนการฉ้อฉล ให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามหน้าที่ปกป้องคุ้มครองดูแลประชาชน ไม่ใช่ขายประชาชนเพื่อหากิน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark