ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูง

ข่าวสังคม 28 พฤศจิกายน 2565 - ห้องข่าวภาคเที่ยง - สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล พุ่งสูงเกือบ 5,000 คน และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 

อัปเดตผู้ติดเชื้อรายใหม่รอบสัปดาห์ พบว่า 7 วันที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูง 4,914 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 957 คน ติดเชื้อสัปดาห์ที่แล้ว 3,957 คน เฉลี่ยวันละ 702 คน

ส่วนผู้เสียชีวิต เพิ่มขึ้นมาเป็น 74 คน เฉลี่ยวันละ 10 คน มากกว่าสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 432 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 252 คน

สถานการณ์เริ่มเป็นกังวล หลังพบผู้เสียชีวิตตามบ้าน กรณีล่าสุดเป็น รปภ. ชาวจังหวัดหนองคาย นอนเสียชีวิตอยู่บ้านเช่าย่านดินแดง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครร่วมกตัญญู เข้าไปนำร่างออกมา เจอยาโมลนูพิราเวียร์อยู่ในห้อง สอบถามเจ้าของบ้านเช่า รู้ว่าผู้เสียชีวิตป่วยมา 1 สัปดาห์ แต่ไม่รู้ว่าเป็นโควิด-19 มารู้ตอนที่กู้ภัยจับตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ขณะนี้ กำลังรอผลชันสูตร ว่าผู้เสียชีวิตมีโรคแทรกซ้อนหรือไม่

ด้าน นายแพทย์ จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณี รปภ.เสียชีวิต ต้องรอผลชันสูตรก่อน จึงยังสรุปไม่ได้ว่าเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หรือไม่ สำหรับสถานการณ์ช่วงนี้ แม้ว่าจะมีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตคาบ้าน แต่ทั้งหมดมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว จึงยังไม่พบการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

ส่วนการเดินทางข้ามประเทศ ต้องยอมรับว่าในไทยพบการระบาดของโควิด-19 หลายสายพันธุ์แล้ว การป้องกันที่ดีที่สุด คือปฏิบัติตามมาตรการที่เคยทำมา และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 3-4 เดือน เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต

แนวโน้มการติดเชื้อที่พุ่งสูง ประชาชนแห่เข้ารับวัคซีนโควิด-19 โดยที่ สถาบันบำราศนราดูร เปิดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชนฟรี ไม่ต้องจองคิว เป็นวัคซีนไฟเซอร์ เปิดเฉพาะวันจันทร์-วันศุกร์เท่านั้น ให้บริการ ตั้งแต่ 08.30- 15.00 น.

ขณะที่ อาคารกีฬาเวศน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ขยายเวลาเปิดฉีดวัคซีนออกไปอีก 1 เดือน ให้บริการวันเสาร์และวันอาทิตย์เท่านั้น โดยไม่ต้องจองคิว

จับตาโอมิครอน รุ่น 3 แรงกว่าเดิมหรือแค่ไข้หวัดใหญ่
ขณะที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุโอมิครอนมูฟออนไปพร้อมกับคน พร้อมกับบอกว่าหลังจากพฤศจิกายน 2564 ที่โอมิครอนระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วแทนเดลตา โชคดีที่ความรุนแรง และอัตราเสียชีวิตต่ำกว่าเดลตามาก

จากนั้นในปีนี้เกิดโอมิครอนกลายพันธุ์รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 เป็นสายพันธุ์ย่อยรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน ก่อนมีลูกผสมสองสายตระกูล คือ เดลตาครอน

ปี 2566 คาดว่าทั่วโลกอาจมีโอกาสเห็นโอมิครอนรุ่น 3 ที่ยังไม่อาจคาดคะเนได้ว่าจะคล้ายไข้หวัด หรือเกิดการติดเชื้อรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเหมือนเดลตาหรือไม่ และองค์การอนามัยโลก ให้อักษรกรีกถัดจากตัวโอมิครอนคืออักษร พาย/Pi หรือไม่ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark