ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

สลดใจ ผ่าชันสูตรซากเต่าตนุ เจอวัสดุทำกระทงเต็มท้อง จ.ชลบุรี

เช้านี้ที่หมอชิต - ทีมสัตวแพทย์ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ เปิดเผยผลการผ่าชันสูตร แม่เต่าตนุ เจอทั้งซากกระทง เข็มหมุด เบ็ด และขยะทะเล อย่างอวน เชือกไนล่อน และพลาสติกที่เข้าไปอุดตันลำไส้

สลดใจ ผ่าชันสูตรซากเต่าตนุ เจอวัสดุทำกระทงเต็มท้อง จ.ชลบุรี
เพจเฟซบุ๊ก "ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ" หรือ ศอพต. โพสต์ภาพซากเต่าทะเลขนาดใหญ่ลอยเกยตื้น ที่บริเวณริมหาดกินรี อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และได้นำกลับมาผ่าชันสูตรหาสาเหตุการตายที่โรงพยาบาลเต่าทะเล กองทัพเรือ

การตรวจสอบทางกายภาพ พบว่า เป็นเต่าตนุ เพศเมีย ขนาดกระดองกว้าง 95 เซนติเมตร และยาว 96.5 เซนติเมตร อายุประมาณ 20 ปี พบเลขรหัสไมโครชิพ 1 1 6 9 1 8 5 5 1 A แต่สิ่งที่ฟังแล้วทำให้สลดใจ คือ ผลการชันสูตรพบสภาพซากเต่าตนุเน่ามาก ไม่พบบาดแผลภายนอกหรือลำตัว อวัยวะหลายส่วนเริ่มเน่าสลาย ภายในระบบทางเดินอาหารพบ อาหารจำพวกสาหร่ายทะเล แมงกะพรุน ไข่ปลา และยังพบขยะทะเล และสิ่งแปลกปลอมภายในระบบทางเดินอาหารจำนวนมาก เช่น หมุดตะปูจากกระทง อวน เชือกไนล่อน แผ่นพลาสติก ที่เข้าไปอุดตันในลำไส้ จนเป็นสาเหตุการตาย

ทีมสัตวแพทย์ฯ เปิดเผยว่า สาเหตุที่พบสิ่งแปลกปลอมภายในระบบทางเดินอาหารของเต่าตนุจำนวนมาก เพราะขยะพลาสติกบางชิ้นก็มีหน้าตาคล้ายกับอาหารที่สัตว์ทะเลกิน เช่น เต่าทะเลมักจะกินถุงพลาสติก เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นแมงกะพรุน และกินพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ที่แตกออก เนื่องจากแสงอาทิตย์และแรงกระแทกของคลื่น เพราะเม็ดพลาสติกคล้ายกับอาหารชิ้นเล็กที่เคยกิน เบื้องต้น ตอนนี้ยืนยันได้จากไมโครชิฟว่า ไม่ใช่เต่าที่อยู่ในความดูแลของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่ากองทัพเรือ ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าเป็นเต่าของหน่วยงานใด และมาจากประเทศไทยเราหรือไม่

ทั้งนี้ หลังจากที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ได้โพสต์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก ทำให้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการลอยกระทงจำนวนมาก หลังจากที่พบซากกระทงและหมุดตะปูในท้องของเต่าตนุตัวดังกล่าว เช่น ทำให้การลอยกระทง หรือการจงใจทิ้งขยะในทะเลเป็นเรื่องผิดกฎหมายได้หรือไม่ เห็นแล้วใจสลาย ถ้าลอยก็ใช้กระทงขนมปัง ปลาได้กินด้วย หรือลอยกระทงจำกัดพื้นที่ได้หรือไม่ 

เต่าทะเลเกยตื้นตาย เป็นอันดับ 2
ข้อมูลจากทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานสัตว์ทะเลตายเกยตื้น ล่าสุดปี 2563 พบว่า มีโลมาเกยตื้นมากที่สุด 45% ตามมาด้วย เต่าทะเล 38% พะยูน 33%  และ วาฬ 28% สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการกินขยะในทะเล พวกขยะที่มาจากฝีมือมนุษย์ เช่น ตาข่าย แห พลาสติก โฟม เป็นต้น รวมไปถึงคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรม ถูกใบพัดเรือ และถูกซัดไปติดแนวกันคลื่น

สำหรับเต่าทะเลที่มาเกยตื้นนั้น สามารถช่วยเหลือเอาไว้ได้สำเร็จ 83% และช่วยเหลือไม่ได้ อีก 17% ส่วนโลมาและวาฬ สามารถช่วยเหลือได้สำเร็จ 59% และช่วยเหลือไม่ได้ 41%

ขอบคุณภาพจาก : FaceBook ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark