ข่าวในหมวด ประเด็นเด็ด 7 สี

ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ปมร้อนสถานีกลางบางซื่อ

ประเด็นเด็ด 7 สี - การเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ปีนี้ต่างจากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา อย่างที่ทราบ ผู้คนเดินทางกันเป็นจำนวนมาก แทบทุกเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะระบบราง คือ รถไฟ นั่นเอง คำถามคือเมื่อทุกคนกลับสู่โหมดใช้ชีวิตปกติ ผู้ใช้บริการสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ หัวลำโพง กันเต็มพื้นที่ ถึงเวลาจะต้องขยับขยายหรือยัง ติดตามใน ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ วันนี้

แน่นอนว่า เมื่อความคับคั่งเกิดขึ้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง คำถามเหล่านี้ก็กลับมาอีกครั้ง ถึงเวลาหรือยังที่เราจะย้ายสถานีกลาง มาอยู่ที่ สถานีกลางบางซื่อ และต้องยอมรับว่า กว่าจะพร้อมจนถึงทุกวันนี้ สถานีกลางบางซื่อ ต้องฝ่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ มานับครั้งไม่ถ้วน และล่าสุด ติดตั้งป้ายชื่อใหม่ จากสถานีกลางบางซื่อ เปลี่ยนมาเป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ด้วยงบประมาณมากกว่า 33 ล้านบาท

การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ใช่เพียงเป็นการสร้างสถานีขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ สถานีหัวลำโพง แต่เป็นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบของสถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นย่านธุรกิจแห่งใหม่ ก่อสร้างระหว่างปี 2556 - 2564 ใช้งบประมาณ กว่า 34,142 ล้านบาท พื้นที่ใช้สอยในอาคารรวม 274,192 ตารางเมตร นี่ยังไม่รวมพื้นที่สถานีใต้ดิน

เรียกได้ว่า สถานีกลางบางซื่อ ถูกตั้งเป้าให้เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย เพื่อทดแทนสถานีหัวลำโพงนั่นเอง

มาดูข้อเปรียบเทียบระหว่าง สถานีกลางบางซื่อ กับ สถานีรถไฟหัวลำโพง เริ่มต้นของขนาดพื้นที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง มีพื้นที่ราว ๆ 120 ไร่ ส่วน สถานีกลางบางซื่อ เนื้อที่ใหญ่กว่า 200 เท่า และศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารสถานีรถไฟหัวลำโพง รองรับได้ 60,000 คนต่อวัน ส่วนสถานีกลางบางซื่อรับได้มากกว่า 10 เท่า หรือกว่า 600,000 คนต่อวัน ยังไม่รวมการเชื่อมต่อเส้นทาง ซึ่งเรียกได้ว่า สถานีกลางบางซื่อ มีขีดความสามารถในการรองรับการเดินทางสูงกว่ามาก

สถานีกลางบางซื่อ เริ่มเปิดใช้งานอย่างไม่เป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2564 ถือเป็นสถานีรถไฟกลางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชานชาลามากถึง 26 ชานชาลา ถูกออกแบบให้เป็นสถานีระบบปิด มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด เทียบเท่ากับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้โดยสารที่ไม่มีตั๋วโดยสารรถไฟ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปบนชั้นชานชาลาของสถานีได้ ดังเช่น สถานีรถไฟหัวลำโพงเดิม เนื่องจากชั้นชานชาลา ถือเป็นพื้นที่เขตหวงห้ามเด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อเปิดบริการครบทุกเส้นทาง สถานีแห่งนี้จะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย และของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่นานมานี้ คณะรัฐมนตรี มีมติให้เปลี่ยนชื่อ จาก สถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานฯ มีความหมายว่า "ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร" ตั้งแต่เริ่มโครงการก่อสร้าง กระทั่งวันนี้ สถานีกลางบางซื่อ ฝ่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด ตั้งแต่การใช้พื้นที่, ความล่าช้าในการก่อสร้าง, เรื่องของพื้นทรุด แม้กระทั่งลานจอดรถ ก็เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว และปมร้อนล่าสุด คือการใช้งบประมาณมากกว่า 33 ล้านบาท ติดตั้งชื่อสถานีใหม่ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องออกมาขีดเส้นตาย 7 วัน เรื่องนี้ต้องชัด

เมื่อการใช้เงินภาษีของประชาชน ในหลาย ๆ โครงการ ถูกเจ้าของเงินออกมาตั้งคำถามว่า คุ้มค่าหรือไม่ ประเด็นสำคัญมากไปกว่านั้น ก็คือ เรื่องนี้เป็นการว่าจ้างแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างตามปกติ บางทีอาจจะต้องยอมถอย หยุดฟังเสียงประชาชนบ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่สภาวะที่เศรษฐกิจประเทศ ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่เราต้องติดตามกันต่อ

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark