ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

เจาะรายละเอียดจ้างทำป้าย สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

เช้านี้ที่หมอชิต - การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงการจัดทำป้าย “กรุงเทพอภิวัฒน์” ค่อนข้างละเอียด เจาะไปถึงตัวอักษรที่จะนำไปติดตั้งว่ามีกี่ตัวอักษร

การจัดจ้างทำป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก มีตัวอักษรทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

ตัวสระภาษาไทยฝั่งละ 24 ตัวอักษร รวม 2 ฝั่ง เป็น 48 ตัวอักษร ส่วนตัวอักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัวอักษร รวม 2 ฝั่งเป็น 62 ตัวอักษร นอกจากนี้ ยังมีตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ซึ่งมีความสูง 7 เมตร

สำหรับป้ายชื่อตัวอักษรไทย สูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ความยาวของป้ายใหม่ 60 เมตร ส่วนตัวอักษรภาษาอังกฤษ มีความสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร

ป้ายชื่อเหล่านี้ ผลิตด้วยวัสดุอะครีลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟแสงสว่างไว้ด้านหลังป้ายด้วย การรถไฟฯ ได้ขอเพิ่มตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ที่มีความสูง 7 เมตร ซึ่งได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน

อีกทั้งป้ายอักษร ติดตั้งโดยมีโครงเหล็กยึดตัวอักษรไว้ที่ด้านหลัง โครงเหล็กยึดไว้เสารับน้ำหนักในตัวอาคาร และเจาะทะลุผนังกระจกยึดตัวอักษรแต่ละตัว แต่ผนังกระจกเป็นกระจกหนากว่า 10 มิลลิเมตร ที่ไม่สามารถเจาะรูใหม่ได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผนังกระจกที่ติดตั้งไว้เรียบร้อยแล้วด้วยผนังกระจกใหม่ที่ต้องสั่งหล่อเป็นพิเศษ โดยผนังกระจกต้องหล่อแผ่นกระจก เว้นรูเจาะให้พอดีจุดยึดโครงเหล็กกับตัวอักษรแต่ละตัวไว้ล่วงหน้า ซึ่งการรื้อถอนของเดิมเพื่อติดตั้งของใหม่ โดยระดับความสูงของป้าย สูงจากพื้นดินประมาณ 28 เมตร ความสูงเทียบเท่าตึก 9 ชั้น น้ำหนักที่ต้องยกขึ้นไปติดตั้ง
กว่า 7 ตัน เป็นงานที่ยากและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

เพจเฟซบุ๊ก ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ซึ่งติดตามเรื่องนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากเอกสารจัดซื้อจัดจ้างในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไม่มีใบปริมาณงาน ไม่มีแบบ ไม่มีอะไรเลย จึงไม่ทราบรายละเอียดค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ แต่ถ้าเอาจำนวนตัวอักษรที่เปลี่ยนมาคิดค่าเฉลี่ยคร่าว ๆ ก็ตกตัวละ 589,286 บาท

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark