ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ไขปมข้อครหา เปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท

ข่าวภาคค่ำ - ยังเกาะติด กรณีเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท ที่แม้จะอยู่ระหว่างการรอผลตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ข้อพิรุธสงสัยที่ส่อถึงความผิดปกติของเรื่องนี้ ก็ยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในสภา ที่ซักกันอย่างเข้มข้นเกือบ 1 ชั่วโมง คุณสุธาทิพย์ ผาสุขสรุปรายละเอียด เรื่องราวทั้งหมดนี้ ในคอลัมน์หมายเลข 7

เป็นเสียงคำถามที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา กรณีข้อครหาเร่งเปลี่ยนชื่อป้ายสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่มีมูลค่าก่อสร้างสูงถึง 33 ล้านบาท โดยที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดโอกาสให้บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่ความคดีพิพาทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการทำงานเพิ่มเติมจากสัญญา มาเป็นผู้รับจ้าง ผ่านรูปแบบการจัดซื้อเฉพาะเจาะจง แทนที่จะเปิดกว้างให้มีการประมูลงาน ก่อนที่ นายศักดิ์สยาม ในฐานะเจ้ากระทรวงคมนาคม จะลุกขึ้นชี้แจงเหตุผลด้วยความจำเป็น

สำหรับบริษัท ยูนิคฯ เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับงานรับเหมาก่อสร้าง และเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้งานโครงการก่อสร้างจากภาครัฐไปหลายโครงการ มีข้อมูลว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2560-2565 บริษัท ยูนิคฯ คว้างานโครงการก่อสร้างภาครัฐ มูลค่ารวมกว่า 80,000 ล้านบาท น่าสนใจคือในจำนวนนี้ เป็นโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทยกว่า 50,000 ล้านบาท จึงมีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าจะมีการฮั้วประมูล หรือไม่

ซึ่งล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้ โดยชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก อธิบายยืนยันขอบเขตของงานโครงการฯ ในวงเงิน 33 ล้านบาท ว่าไม่ได้มีเพียงแค่ค่าใช้จ่ายการปรับปรุงป้ายชื่อตัวอักษรเพียงอย่างเดียว รวมถึงประเด็นการใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง

ระหว่างที่สังคมเฝ้าจับตาการทำหน้าที่ตรวจสอบทั้งจากองค์กรอิสระ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีคำสั่งจัดตั้ง ก่อนขอขยายเวลาการสอบสวน กำหนดจะแล้วเสร็จภายใน 15 วัน

ยังมีอีกประเด็นที่เป็นข้อสังเกต นั่นคือเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนชื่อป้าย ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อ้างว่าเป็นตามประเพณีปฏิบัติ

คำอธิบายนี้จึงทำให้มีความเห็น และถูกตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมนอกสภาในเวลาต่อมา เช่น ผู้เชี่ยวชาญศึกษาประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่โพสต์เฟซบุ๊ก ให้ข้อมูลเปรียบเทียบว่ากรณีนี้อาจไม่เหมือนกัน เนื่องจากอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่เคยมีการติดตั้งป้ายสนามบินหนองงูเห่า และต้องใช้งบในการรื้อถอนปรับปรุง

กรณีนี้จึงมีอีกมุมหนึ่งที่น่าขบคิด คือการบริหารงานของหน่วยงานราชการที่ผิดพลาด ซ้ำซ้อน จนบานปลาย กลายเป็นปัญหา เกิดผลกระทบกับเงินงบประมาณแผ่นดิน แต่คนที่รับผิดชอบคือประชาชนผู้เสียภาษี

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark