ข่าวในหมวด ข่าว 7 สี

คอลัมน์หมายเลข 7 : ชำแหละปม นายทุนฮุบที่ดิน เกาะหลีเป๊ะ

คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ติดตามกลโกงที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ที่ลุกลามกลายเป็นปัญหาข้อพิพาท ระหว่างนายทุนภาคเอกชน กับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งวันนี้ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่าใครจะต้องถูกดำเนินคดี จากการบุกรุกพื้นที่ และครอบครอบเอกสารสิทธิโดยมิชอบ

การปิดทางเข้าออกซึ่งอยู่ด้านข้างโรงเรียนเกาะอาดัง ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินเข้าออกหรือไปสถานีอนามัยได้อย่างที่เคยทำ เป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำให้นักเรียนนับ 100 ชีวิต พากันมาคุกเข่า เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจสอบสิทธิ ที่ดินบนเกาะใหม่ทั้งหมด

รีสอร์ตและบ้านพักที่ก่อสร้างบุกรุกพื้นที่ 60 ไร่ ของกลุ่มนายทุนที่อ้างสิทธิ์ครอบครอง และรุกที่อุทยาน จะต้องถูกรื้อถอน

ที่ดินลำรางสาธารณะที่มีการถมเพื่อครอบครอง ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย หากพิสูจน์ตรวจสอบแล้วพบว่าได้มาโดยไม่ชอบ

เช่นเดียวกับรีสอร์ตที่ลักลอบเปิดให้บริการแบบโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาต และหลีกเลี่ยงการเสียภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ที่เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่บังคับใช้กฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุน ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ต้องถูกสอบสวนดำเนินคดี รับผิดชอบกับความเสียหาย

แม้เห็นความคืบหน้า แต่ยังไร้บทสรุปที่ยั่งยืน การติดตามตรวจสอบจึงยังต้องทำอย่างเข้มข้น เพราะเป็นปัญหาเรื้อรัง เกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน บางกรณีมีคำพิพากษาศาล ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง แต่ก็ยังบังคับใช้กฎหมายไม่ได้

จึงเป็นงานหนักสำหรับ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่รับบัญชาจากนายกรัฐมนตรี มาแก้ปัญหานี้

ที่สำคัญ บทสรุปต้องที่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วย ไม่ใช่ทำแบบไฟไหม้ฟาง

แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ที่จัดทำขึ้นในปี 2493 ถูกเลือกเป็นเครื่องมือหลัก ที่จะนำมาใช้เทียบอ้างอิงในการพิจารณาปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยในวันจันทร์ ที่ 30 มกราคมนี้ เจ้าหน้าที่จะร่วมกันพิสูจน์ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

โดยเฉพาะกรณีที่ดิน นส.3 เลขที่ 11 จำนวน 80 ไร่ ที่อยู่ในพิกัดเดียวกับ สค.1 และบวมออกมา

ซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่พบว่า มีการรุกล้ำอย่างน้อย 7 จุด เริ่มตั้งแต่การบุกรุกเข้าไปสร้าง รีสอร์ตและที่อยู่อาศัย การสร้างสระว่ายน้ำบุกรุกเขตพื้นที่อุทยานและพื้นที่หาดซันไรส์ฝั่งตะวันตกของเกาะหลีเป๊ะ การถมลำรางสาธารณะสามจุด โอนขายกรรมสิทธิ์กันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ยังไม่นับรวมปัญหาขยะมูลฝอยและน้ำเสียที่กองอยู่เต็มพื้นที่เกาะจนแทบจะสูญสิ้นสภาพเกาะสวรรค์

หลายสิบปีแห่งการต่อสู้ เพื่อรักษาสิทธิทำกินบนผืนดินที่เคยเป็นของตัวเอง แต่กลับถูกทางการประกาศทับที่ กลายเป็นผู้บุกรุก หนำซ้ำยังถูกนายทุนเบียดเบียน จากที่เคยใช้ชีวิตราวกับอยู่บนสวรรค์ ปัจจุบันชาวเลหลีเป๊ะ กำลังรู้สึกเหมือนตกนรก ถึงกับเคยขึ้นป้ายว่า อดีตคือสวรรค์ ปัจจุบันคือ นรก จะหยุดการรุกรานของทุนอย่างไร สิทธิในการอยู่อาศัยและทำกิน จะได้กลับคืนมาหรือไม่ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์การใช้อำนาจบนเมตตาธรรม ที่จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark