อย่าปล่อยเด็กอ้วนเกิน หมอยกเคส เด็ก 7 ขวบ หนัก 110 กก. หยุดหายใจขณะหลับ เสียชีวิต

คลิปที่เกี่ยวข้อง

อย่าปล่อยเด็กอ้วนเกิน หมอยกเคส เด็ก 7 ขวบ หนัก 110 กก. หยุดหายใจขณะหลับ เสียชีวิต


อย่าปล่อยเด็กอ้วนเกิน หมอยกเคส เด็ก 7 ขวบ หนัก 110 กก. เกิดภาวะแทรกซ้อน หยุดหายใจขณะหลับ เสียชีวิต

วันที่ 1 ก.พ.66 นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต กลุ่มงานกุมารเวชกรรม รพ.มหาราชนครราชสีมา โพสต์เฟซบุ๊กเผยเคสผู้ป่วยเด็กอ้วนเป็นอุทาหรณ์ถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง "เด็กอ้วน" จนเกิดภาวะแทรกซ้อน และสุดท้ายเสียชีวิต โดยคุณหมอระบุข้อความว่า

"เด็กอ้วน" จนเกิดภาวะแทรกซ้อน และสุดท้าย "เสียชีวิต" ปัญหาซ้ำซาก เป็นความเจ็บปวดทั้งครอบครัวและหมอที่รักษา

ในทุกปี เราจะมีเด็กที่มีภาวะ "อ้วนอย่างรุนแรง" และเกิดปัญหาโรคภัยต่างๆ แทรกซ้อนเข้ามาแล้วเสียชีวิตเกิดขึ้นทุกปี และถ้าถามผมว่ามีจริงๆ ไหม ในฐานะของผม โรคระบบหายใจและ ICU ขอตอบตามตรง...มีมาตลอด แต่ประชาชนทั่วไปยังไม่เชื่อ ผมจึงขอนำเสนอประสบการณ์จริงของผม

ตัวอย่างเช่นในเคสนี้ หากเราดูกราฟน้ำหนักตัวของเด็กจะเห็นว่า น้ำหนักผิดปกติและเพิ่มขึ้นจนเกิดปัญหามานาน ซึ่งเราพยายามติดตามและให้คำแนะนำเรื่อง โภชนาการมาโดยตลอด จนกระทั่งหลัง 5 ขวบน้ำหนักได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วไปแตะที่ 110 กก. ที่อายุ 7ปี เท่านั้น และเกิดปัญหา หยุดหายใจขณะหลับ ปอดติดเชื้อ แรงดันเลือดในปอดสูงผิดปกติ หัวใจล้มเหลว สุดท้าย "เสียชีวิต"

นี่ไม่ใช่เคสแรก แต่เคสแบบนี้ มีมาตลอดชีวิตการทำงานของผม เรื่องนี้เป็นเรื่องของ "โภชนาการ" หรือ การกิน ล้วนๆ ซึ่งในสังคมไทยเราเป็นเรื่องยากมาก เพราะ การเข้าถึงขนม ที่ให้พลังงานสูงแต่ไร้ซึ่งสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเติบโตมัน "ง่ายมาก"

กุมารแพทย์เรา ถูกสอนให้แนะนำ ผู้ปกครองเมื่อมารับวัคซีนอยู่เสมอ ถึงเรื่องของโภชนาการและระวังภาวะอ้วนเพื่อไม่ให้เกินเลย จนกระทั่งจนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จนนำไปสู่การเสียชีวิต

ถ้าสภาวะสังคม การบริโภคยังเป็นแบบนี้ ผมไม่หวังเลยครับว่า เคสนี้จะเป็นเคสสุดท้าย...ผมได้แต่หวังว่า ผู้ปกครองที่ได้อ่านโพสต์นี้แล้วจะตระหนักได้ และ หันกลับมามอง บุตรหลานของตนเอง ทั้งเรื่องของน้ำหนักตัวและการกิน ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่าเหมาะสมหรือยัง ถ้าอ้วนแล้ว รีบกลับมาปรับการกินให้เหมาะสม ถ้าอ้วนแล้ว นอนเริ่มกรนแล้ว ควรไปพบแพทย์ อย่าคิดว่าหายเอง ปล่อยอ้วนจนเรื่อยๆ จนเกินเลย มาถึงจุดที่มีความสูญเสียแล้ว

ไม่กินจุกจิก  กินให้เป็นมื้อ ขนมทั้งหลายไม่ใช่ของจำเป็นในชีวิต งดได้งด กินให้น้อยที่สุด  ที่โรงเรียนด้วยนะครับ ขนมที่ไร้สารอาหารที่เป็นประโยชน์เลิกขายได้แล้วครับ เพราะท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของวงจรการสูญเสียนี้ บางทีเราเห็นเด็กอยากกินเราก็สงสาร... แต่หารู้ไม่ว่า การหยิบยื่นความสุขกับความป่วยความตาย มันมีเส้นบางๆ กั้นเพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง

หวังว่าโพสต์นี้จะช่วยเตือนใจคุณผู้ปกครอง ก่อนจะหยิบยื่นของกินให้ลูกในทุกครั้ง และหวังว่าความสูญเสียแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกครับ



BUGABOONEWS
ข้อมูลจาก FB : Jiraruj Praise (นพ.จิรรุจน์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ)

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark