ข่าวในหมวด เช้านี้ที่หมอชิต

เปิดปฏิบัติการไข่นกกระทา จับ ผอ.ทุจริตค่าอาหารนักเรียน

เช้านี้ที่หมอชิต - ข่าวผู้อำนวยการโรงเรียนทุจริตอาหารกลางวัน เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ละครั้งหาหลักฐานค่อนข้างยาก เพราะจ่ายใต้โต๊ะหรือกำหนดเงินทอนกันแบบละเอียดรอบคอบ แต่ครั้งนี้ ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. กระทำอย่างรัดกุม เปิดปฏิบัติการ "ไข่นกกระทา" ก่อนจับกุมผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ย่านบางชัน กรุงเทพมหานคร ทุจริตเงินอาหารกลางวันนักเรียนชนิดคาหนังคาเขา 

นี่เป็นภาพขณะที่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. สนธิกำลังร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. บุกเข้าไปภายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ย่านบางชัน ในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สด ๆ ร้อน ๆ ภายใต้ปฏิบัติการ "ไข่นกกระทา" เพื่อจับกุม นายไพฑูรย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ย่านบางชัน ในความผิดฐาน "เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด และ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ" ได้ภายในห้องทำงานโรงเรียนแห่งหนึ่ง ถนนพระยาสุเรนทร์ แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ ทางเจ้าหน้าที่ บก.ปปป.ได้รับการร้องเรียนว่า นายไพฑูรย์ มีพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่เหมาะสม เรียกรับเงินจากคู่สัญญาหรือผู้ประกอบการที่ชนะการเสนอราคาโครงการจ้างเหมาประกอบอาหารสำหรับนักเรียน ภาคเรียนที่ 2/2565 เป็นเงิน 329,000 บาท อ้างว่าจะนำไปปรับปรุงวัสดุ อุปกรณ์ โต๊ะ เก้าอี้ ภายในโรงอาหารของโรงเรียน และ เรียกเก็บเพิ่มเติมเป็นเงินรายเดือนอีกเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งเงินส่วนหลังนี้อ้างว่าเป็นค่าดูแลเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารของนักเรียน จำนวน 5 คน โดยให้เหตุผลว่าทางผู้ประกอบการได้กำไรจากการจัดทำโครงการดังกล่าวไปแล้ว หากไม่ยอมทำตามก็จะทำเรื่องยกเลิกสัญญา หรือทำเรื่องรายงานไปที่กรุงเทพมหานครว่า ผู้ประกอบการได้รับเงินส่วนต่างค่าอาหารเช้าจากการที่เด็กนักเรียนไม่มารับประทานอาหารเป็นเงินจำนวนมาก

หลังตำรวจ บก.ปปป. รับเรื่องร้องเรียน จึงจัดกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบจนทราบว่า ผู้อำนวยการคนดังกล่าวมีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำผิดจริง จึงวางแผนให้ผู้ประกอบการนำเงินไปส่งมอบให้กับ นายไพฑูรย์ ตามที่ร้องขอ ก่อนนำกำลังเข้าจับกุมตัวได้พร้อมกับเงินของกลางดังกล่าว

จากการสอบสวน นายไพฑูรย์ ให้การปฏิเสธ อ้างว่าไม่มีการเรียกรับเงินแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าก่อนหน้าจะถูกจับกุมได้มีการเชิญตัวผู้ประกอบการมาเข้าพบจริง แต่เป็นการเรียกมาพบเพื่อเจรจาเกี่ยวกับปัญหาที่มีการร้องเรียนเรื่องคุณภาพอาหารเพียงเท่านั้น ส่วนซองเงินที่อยู่บนโต๊ะนั้นก็ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ประกอบการคนดังกล่าววางลืมไว้หรือไม่ แต่ไม่ใช่ของตนอย่างแน่นอน 

เบื้องต้น ตำรวจ บก.ปปป. นำตัวส่งพนักงานสอบสวน เพื่อทำการแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนเร่งรวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนส่งต่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการอาหารเด็กนักเรียนดังกล่าว เดิมทีมีการตั้งงบกลางไว้ที่ 12 ล้านบาท ก่อนเปิดให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ เสนอราคาโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) จนมีผู้ชนะการประกวดยื่นรับทำโครงการที่วงเงินงบประมาณ 8 ล้านบาท เฉลี่ยค่าอาหารเช้าและกลางวันต่อเด็กตกรายละ 28 บาท ต่อวัน จากจำนวนเด็กเกือบ 3,000 คน ภายในกรอบระยะเวลา 100 วัน รวมแล้วเป็นเงินเกือบ ๆ 8 ล้านบาท

ซึ่งในขณะที่จับกุม ผอ.คนดังกล่าว ก็ยังขอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ให้เรื่องนี้เป็นข่าวถึงสื่อมวลชนด้วย โดยอ้างเรื่องชื่อเสียงที่สั่งสมมานาน ความเป็นข้าราชการที่ทำประโยชน์ให้โรงเรียน และให้เห็นแก่ผู้บังคับบัญชาของตัวเอง 

ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการแจ้งข้อกล่าวหา ทางผู้อำนวยการยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้จะมีพยานหลักฐานที่ตำรวจจับกุมได้แบบจะจะ แต่ก็ยังสามารถใช้สิทธิ์ต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมต่อไป

เรื่องนี้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เปิดเผยภายหลังว่า ผอ.ไพฑูรย์ เพิ่งย้ายมาใหม่ มาถึงก็เห็นช่องว่างว่าผู้ประกอบการได้กำไรจากอาหารเช้าที่เด็กนักเรียนไม่ค่อยมากินกัน จึงเรียกเงินตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ทางผู้ประกอบการซึ่งได้กำไรจากโครงการดังกล่าวน้อยอยู่แล้ว จึงไปหยิบยืมเงินเพื่อมาจ่ายใต้โต๊ะให้เนื่องจากถูกขู่ว่าจะยกเลิกสัญญา ตอนหลังผู้ประกอบการทนแบกรับภาวะขาดทุนและพฤติกรรมดังกล่าวไม่ไหว จึงแจ้งเจ้าหน้าที่จับกุม ซึ่งการจับกุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการช่วยปรามไม่ให้โรงเรียนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้ข้าราชการเกรงกลัวต่อบาปกันบ้าง อย่าไปทำเเบบนี้กับเด็กตาดำ ๆ เลย

สำหรับที่ไปที่มาของปฏิบัติการ "ไข่นกกระทา" ก็เพื่อเป็นการเปรียบเปรยเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นว่าการปราบปรามทุจริตเงินโครงการดังกล่าวนั้น ถือเป็นการช่วยให้เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้นอีกทางหนึ่ง ซึ่งจากเดิมที่อาจเคยได้รับประทานอาหารเพียงแค่ไข่นกกระทา แต่หากไม่มีการทุจริตเงินส่วนนี้เกิดขึ้น เด็กนักเรียนเหล่านี้ก็จะได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์คุ้มค่าเงินอุดหนุนที่ภาครัฐจัดให้ มากกว่าเพียงแค่ไข่นกกระทาใบเล็ก ๆ นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมแสดงน้อยลง Bookmark